รอทุบกระปุกไว้เลย! “กรมธนารักษ์” เตรียมรถรับแลกคืน “เหรียญกษาปณ์” เคลื่อนที่

การหยอดเหรียญลงในกระปุกออมสิน เป็นวิธีการออมแบบคลาสสิกอย่างหนึ่ง ที่คนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะเยาวชน สามารถนำมาเป็นแบบอย่างในการเก็บเงินไว้ใช้ในอนาคต

แต่ปัญหาคือ การแลกเหรียญในปัจจุบันไม่เป็นกิจจะลักษณะ จากเมื่อก่อนหน่วยงานรับแลกเหรียญที่ประชาชนรู้จักกันดีก็คือ “สำนักงานคลังจังหวัด” แต่ละจังหวัด กับ “ธนาคารออมสิน”

กระทั่งกรมบัญชีกลาง ยกเลิกรับจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์ที่สำนักงานคลังจังหวัด อีกทั้งธนาคารออมสิน คิดค่าธรรมเนียมนับเหรียญกษาปณ์ ขั้นต่ำ 30 บาทต่อรายการ ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกเหมือนเคย

อีกทั้งการจัดการเหรียญกษาปณ์ ทั้งการจัดเก็บและขนส่งเหรียญส่วนเกิน แตกต่างจากการจัดการธนบัตร ที่มีศูนย์จัดการธนบัตร 10 แห่งทั่วประเทศ อีกทั้งหลายธนาคารยังมีระบบหมุนเวียนธนบัตรเป็นของตัวเอง

หน่วยงานที่มีหน้าที่ผลิตเหรียญกษาปณ์เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าในท้องตลาด ก็คือกรมธนารักษ์ ส่วนธนบัตรจะมีธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบ มีโรงพิมพ์ธนบัตรที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

ในแต่ละปีกรมธนารักษ์จำเป็นต้องผลิตเหรียญให้ได้ปริมาณเพียงพอ ทั้งความต้องการของประชาชน และรองรับระบบเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งประเทศ

ปัญหาก็คือ โลหะที่ใช้ผลิตเหรียญปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนผลิตเหรียญสูงกว่ามูลค่าราคาหน้าเหรียญ

ขณะที่ปัจจุบัน ยังมีธุรกิจขายสินค้าและบริการผ่านเครื่องบริการอัตโนมัติเป็นจำนวนมาก เช่น ตู้เติมเงินโทรศัพท์ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ซึ่งมีความต้องการใช้เหรียญ

ที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ ได้จัดตั้งหน่วยรับแลกเหรียญคืนเหรียญกษาปณ์ 2 แห่ง คือ โรงกษาปณ์ ถนนพหลโยธิน จ.ปทุมธานี และสำนักบริหารเงินตรา ถนนจักรพงษ์ กรุงเทพฯ โดยจำกัดมูลค่ารับแลกคืนไม่เกิน 5 หมื่นบาท

นอกนั้นจะมีศูนย์บริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ของกรมธนารักษ์ 6 แห่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ อุบลราชธานี ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และสงขลา ยังไม่เพียงพอต่อการรับแลกคืนเหรียญได้อย่างทั่วถึง

รถบริการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่กรมธนารักษ์นำมาให้บริการในจังหวัดปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียงที่ไม่มีศูนย์บริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ รวม 14 จังหวัด

วัตถุประสงค์หลัก ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนที่เก็บเหรียญไว้ในกระปุกออมสิน หรือตามที่ต่างๆ นำออกมาแลกคืน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตเหรียญกษาปณ์อีกด้วย

ปัจจุบันมีการใช้จ่ายเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนทุกชนิดราคา ประมาณ 3,000 ล้านเหรียญต่อปี หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 32,000 ล้านเหรียญ มูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท

ขณะที่ประชาชนนำเหรียญกษาปณ์มาแลกคืนเพียงแค่ 30% เท่านั้น ลดต้นทุนในการผลิตได้ 1,400 ล้านบาท

โครงการนี้ ตั้งเป้าหมายรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนทุกชนิดราคาจากประชาชน เดือนละ 5 ล้านเหรียญ หรือ 60 ล้านเหรียญต่อปี คาดว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตเพิ่มได้ประมาณ 86 ล้านบาท

สำหรับขั้นตอนการให้บริการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ก็คือ ผู้แลกต้องทำการนับจำนวนเหรียญที่นำมาแลกคืนก่อนออกจากบ้าน ก่อนกรอกจำนวนเหรียญลงในแบบฟอร์มพร้อมชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์

เมื่อเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลลูกค้าในระบบแล้ว จะให้ผู้แลกเทเหรียญเข้าเครื่องคัดแยกเหรียญเพื่อนับจำนวน และคำนวณมูลคาเหรียญ หากมีเหรียญบิดงอ เหรียญปลอม เหรียญต่างประเทศ เครื่องจะคัดออก

เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจนับเหรียญที่เครื่องคัดแยกเหรียญ หากเป็นเหรียญรัฐบาลไทยที่บิดงอ เจ้าหน้าที่จะคิดเงินและนำมารวมกับจำนวนที่ได้จากเครื่องคัดแยก

เสร็จแล้ว ผู้แลกจะได้รับใบรายงานผลการนับเหรียญที่แสดงรายละเอียด อาทิ ชนิดราคา จำนวนเหรียญ จำนวนเงิน โดยจะคืนเป็นเงินสด หรือโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารผ่านระบบโมบายล์แบงกิ้ง เป็นอันเสร็จสิ้น

เบื้องต้น ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 จะให้บริการในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและพระนครศรีอยุธยา ส่วนที่เหลือจะขยายพื้นที่ให้บริการไปจังหวัดปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 12 จังหวัด

ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นครปฐม อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก และสระบุรี โดยจะให้บริการตั้งแต่เวลา 10.00-15.00 น.

กำหนดการที่แน่นอน กรมธนารักษ์จะประชาสัมพันธ์อีกครั้ง ผ่านเว็บไซต์ www.treasury.go.th หรือเฟซบุ๊ก “ส่วนประชาสัมพันธ์ กรมธนารักษ์” ซึ่งจะประกาศให้ทราบต่อไป

-กิตตินันท์ นาคทอง –

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *