จักรยานเพื่อการท่องเที่ยว

ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์เสียงสาคร ฉบับประจำเดือนกันยายน พ.ศ. 2556

เมื่อไม่นานมานี้ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พันท้ายนรสิงห์ และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรสาคร จัดกิจกรรม “ปั่น ปันทาง” ตามโครงการจัดกิจกรรมปั่นจักรยานท่องเที่ยวเชื่อมโยงพื้นที่เกี่ยวเนื่องกรุงเทพมหานคร-สมุทรสาคร โดยเริ่มจากโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ เขตบางขุนเทียน ไปถึงจุดชมปลาโลมา ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ระยะทางไป-กลับ 20 กิโลเมตร

ทราบว่าหลังการแถลงข่าว กรุงเทพมหานครก็เปิดเผยว่า ในวันที่จัดกิจกรรมมีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมกว่า 890 คน มีทั้งลงทะเบียนผ่านทางเฟซบุ๊ก ทางโทรศัพท์ รวมทั้งชมรมนักปั่นจักรยานสมุทรสาครได้นำสมาชิกประมาณ 200 คนเข้าร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งต่อจากนี้กรุงเทพมหานครจะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีก 2 เส้นทาง โดยใช้รถไฟและจักรยาน ได้แก่ “จากป้อมสู่ป้อม ลำน้ำเจ้าพระยาสู่ท่าจีน” และ “กินลม ชมชิม ริมทะเล”

อันที่จริงก่อนหน้านี้เมื่อหลายปีก่อน กรุงเทพมหานครเคยร่วมกับสำนักผังเมือง ดำเนินการก่อสร้างเส้นทางเดินเท้าและทางจักรยานเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สำหรับนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาสัมผัสระบบนิเวศน์ของป่าชายเลนได้อย่างใกล้ชิด และสามารถทำกิจกรรมศึกษาพันธุ์ไม้นานาชนิด และสัตว์ต่างในป่าชายเลนด้วยเส้นทางจักรยาน โดยที่โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ ก็มีจักรยานให้เช่า สนนราคาคันละ 20 บาท

การเปิดเส้นทางท่องเที่ยวด้วยจักรยาน รอยต่อระหว่างกรุงเทพมหานคร กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ติดกัน หากไม่มองถึงนัยยะทางการเมือง ก็ถือเป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวดีๆ ที่น่าสนับสนุน และควรทำอย่างยั่งยืน เพราะการท่องเที่ยวด้วยจักรยานมีมานานแล้ว และปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจากการไม่ใช้เชื้อเพลิงเป็นพลังงานแล้ว ยังเป็นการออกกำลังกายที่ดีทางหนึ่งอีกด้วย

ในจังหวัดสมุทรสาคร แม้การส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยจักรยานจะไม่เป็นกิจจะลักษณะ เพราะเป็นไปแบบต่างคนต่างปั่น แต่หากทางจังหวัดจะส่งเสริมจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพียงแค่ใช้วิธีตั้งงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง จัดหาจักรยานมาตั้ง เอาคนมาดูแลเก็บเงินค่าเช่าจักรยาน แล้วจัดอีเวนท์เปิดตัวแก่สื่อมวลชนเพียงวันเดียว ปัญหาสำคัญที่จะต้องตอบโจทย์ให้การท่องเที่ยวด้วยจักรยานเป็นที่รู้จักมากขึ้น คือ ทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมาการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดบ้านเราเป็นไปในลักษณะฉาบฉวย อย่างโครงการล่องเรือประมงชมอ่าวมหาชัย ที่พบว่าใช้งบประมาณตกแต่งเรือประมง 5 ลำ กว่า 3.84 ล้านบาท แต่กลับมีเรือประมงที่พร้อมให้บริการเพียงลำเดียว นอกจากนี้ค่าบริการที่สูงในสายตานักท่องเที่ยว คือ 80 และ 400 บาท อันเป็นผลมาจากต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และการอ่อนประชาสัมพันธ์ด้วยเหตุผลที่ว่าขาดความน่าสนใจ ทำให้ท้ายที่สุดผลตอบรับโครงการนี้เป็นไปอย่างไม่สู้ดีนัก

การจัดโครงการจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว จึงไม่ใช่จบลงเพียงแค่เปิดตัวโครงการแล้วปล่อยไปตามยถากรรม แต่ควรส่งเสริมด้วยการประสานความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เรื่อยไปจนถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน สิ่งสำคัญที่สุดคือการกำหนดเส้นทางจักรยาน จุดให้บริการจักรยาน และต้องรับมือกับการเสื่อมสภาพของจักรยาน ที่ต้องมีการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง

ในพื้นที่ใจกลางเมืองสมุทรสาคร ทั้งฝั่งตลาดมหาชัย และฝั่งท่าฉลอม มีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว น่าจะมีศักยภาพในการทำจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว โดยอาจจะนำร่องสัก 20-30 คัน ทำระบบและกติกาการให้เช่าจักรยานอย่างดี หากผลตอบรับดีก็ค่อยๆ ขยับขยายก็ได้ ถ้าตั้งใจทำจริงๆ ทำโครงการนี้แบบยั่งยืน ไม่มีผักชีโรยหน้า การบอกต่อจากนักท่องเที่ยวด้วยกันจะเป็นตัวช่วยให้การส่งเสริมจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวประสบความสำเร็จได้

ก็ขอฝากนายกเทศมนตรี “สุชาติ แซ่เฮ้ง” นำไปพิจารณาด้วยก็แล้วกันครับ…



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง