จัดระเบียบสงกรานต์สมุทรสาคร

ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์เสียงสาคร ฉบับประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2556

ประเพณีสงกรานต์ในจังหวัดสมุทรสาครผ่านพ้นไปแล้ว บรรยากาศความสนุกในการเล่นสาดน้ำเพื่อคลายร้อนก็ไม่ต่างจากทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งตามธรรมเนียมคนในตลาดมหาชัยจะเล่นน้ำสงกรานต์กันวันที่ 13 เมษายน โดยมีเทศบาลนครสมุทรสาครเข้ามามีส่วนร่วมและดูแลความเรียบร้อย จากนั้นวันที่ 15 เมษายน ก็จะเล่นสาดน้ำกันบนถนนเศรษฐกิจ 1 โดยมีขบวนแห่เทพีสงกรานต์วัดบางปิ้งมาสร้างสีสัน พร้อมกับที่บ้านแพ้วจะมีขบวนแห่รอบตลาดบ้านแพ้วและการเล่นน้ำสงกรานต์เช่นกัน

จะมีก็แต่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ในปีนี้ปรากฏว่า นายนนู สร้อยพลอย นายอำเภอสามพราน จ.นครปฐม ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 และสถานีตำรวจในพื้นที่ ทั้ง สภ.กระทุ่มแบน สภ.โพธิ์แก้ว และ สภ.พุทธมณฑล ตั้งด่านห้ามรถกระบะที่บรรทุกถังน้ำและบรรทุกคนเข้าไปในถนนอย่างเข้มงวด กระทั่งมีชาวบ้านออกมาชุมนุมบริเวณแยกสาครเกษม เพื่อแสดงความไม่พอใจและต่อว่าตำรวจ พร้อมกับร้องขอความสุขในการเล่นน้ำสงกรานต์ 3 วันกลับคืนมา

โดยส่วนตัวผมมองว่านายอำเภอสามพราน และตำรวจภูธรภาค 7 พลาดตรงที่ใช้อำนาจเยี่ยงเผด็จการแก่ผู้เล่นน้ำสงกรานต์มากเกินสมควรแก่เหตุ เพราะแม้จะอ้างได้ว่าต้องการรักษาประเพณีการเล่นสงกรานต์ที่ดีงาม แต่มาตรการนี้ไม่เคยสอบถามความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ รวมทั้งคนอ้อมน้อย ที่ไม่ได้อยู่ในจังหวัดเดียวกันกับนายอำเภอสามพราน แต่ก็ต้องถูกห้ามเล่นสงกรานต์จากคำสั่งหัวโบราณ โดยไม่ดูสภาพความเป็นจริงว่าเป็นอย่างไร

การตั้งด่านห้ามรถกระบะที่บรรทุกถังน้ำและบรรทุกคนเข้าไปในถนนพุทธมณฑลสาย 4 สร้างความแตกแยกแก่ประชาชนอย่างเห็นได้ชัด แม้จะมีเสียงเห็นด้วยจากคนที่อยากอยู่กับบ้านเฉยๆ ไม่ได้มีอารมณ์เล่นน้ำสงกรานต์เหมือนคนอื่นเขา แต่อีกเสียงของคนที่อยากเล่นสงกรานต์ปีละครั้ง เจอตำรวจปิดถนน ไม่รู้จะเล่นกับใครก็เดือดร้อน แถมกระทบกับจุดเล่นน้ำสงกรานต์ที่ถนนเลียบคลองทวีวัฒนา บรรยากาศกร่อย นักท่องเที่ยวลดลง ชาวบ้านแถวนั้นเจ๊งไปตามๆ กัน

ก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ แค่อยากจะฝากไว้เป็นบทเรียนว่า อะไรที่มาแบบหย่อนยานไปก็ถือว่าขาดประสิทธิภาพ แต่อะไรที่มาแบบยอมหักไม่ยอมงอ สวนกระแสสังคม มองแต่ปัญหามากกว่าการเปิดโอกาสและเสรีภาพของประชาชนภายใต้กรอบของกฎหมาย สะท้อนให้เห็นว่านายอำเภอสามพราน และตำรวจภูธรภาค 7 จัดการเรื่องนี้ไม่เป็นมืออาชีพ ไม่ได้ดูที่กรุงเทพฯ หรือจังหวัดใหญ่ๆ เลยว่าเขามีวิธีจัดการอย่างไรให้เกิดความสงบเรียบร้อย

กลับมาที่สมุทรสาครบ้านเรา ปกติการเล่นน้ำสงกรานต์ของคนที่นี่เป็นโซนนิ่งอยู่กลายๆ เพราะเหมือนนัดกันมาว่า คนตลาดมหาชัยเล่นน้ำสงกรานต์วันที่ 13 เมษายน ส่วนวันที่ 15 เมษายนเขาก็เล่นกันที่ถนนเศรษฐกิจ 1 แล้วก็มีย่านวัดคลองครุเล่นวันที่ 17 เมษายน ถ้าทางจังหวัดสามารถนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาบูรณาการ โดยกำหนดเป็นปฏิทินท่องเที่ยวไปเลย แล้วเสริมมาตรการรักษาความปลอดภัยไปด้วย ก็จะทำให้ที่นี่เป็นจุดขายไม่แพ้สงกรานต์ที่อื่นๆ เลยทีเดียว

ผมชอบสงกรานต์ที่ตลาดมหาชัยอย่างหนึ่งตรงที่ รู้ว่าเขาเล่นน้ำกันวันที่ 13 เมษายนก็นัดกันมาเลย ไม่ต้องจัดพิธีการอะไรใหญ่โต ไม่ต้องตั้งชื่อถนนเมนูข้าวเพื่อเลียนแบบจังหวัดอื่น แต่ทางเทศกาลก็มีส่วนร่วมทั้งการดูแลความเรียบร้อย และการนำหัวฉีดดับเพลิงแรงดันสูงมาพ่นน้ำเป็นที่สนุกสนาน หากสามารถจัดเจ้าหน้าที่ตรวจดูแลความสงบเรียบร้อยเป็นระบบ และหามาตรการแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาท รวมทั้งการควบคุมเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จะดีมากขึ้นไปอีก

อะไรที่เป็นธรรมชาติแล้ว หากสามารถประยุกต์ให้สอดคล้องกับกระแสสังคมปัจจุบัน ภายใต้กรอบของกฎหมาย เป็นสิ่งที่นับว่าดีกว่าการเข้มงวดโดยฝืนกระแสของคนที่เล่นน้ำสงกรานต์ส่วนใหญ่ ก่อนหน้านี้ก็เคยมีข่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกระเบียบ ข้อห้ามการเล่นสงกรานต์ปี 2556 รวม 11 ข้อ แต่ปรากฏว่าสังคมออกมาโห่ไล่กับข้อห้ามประเภทห้ามนั่งหรือยืนบนหลังกระบะเพื่อเล่นน้ำสงกรานต์ และห้ามเล่นแป้ง ภายหลังต้องออกมาแก้ข่าวกันจ้าละหวั่น

หวังว่าปีหน้าคงไม่มีข้อห้ามงี่เง่าเพื่อเอาใจแนวคิดแบบพวกโลกสวย มือถือสากปากถือศีลออกมาอีก.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง