พระราม 2 โทลล์เวย์
ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์เสียงสาคร ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556
เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง ได้ออกมาเปิดเผยถึงโครงการสำรวจและออกแบบทางยกระดับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) หรือถนนพระราม 2 เริ่มตั้งแต่จุดตัดกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) หรือทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ถึงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3242 (ถ.เอกชัย) บริเวณทางแยกต่างระดับเอกชัย หรือย่านชุมชนมหาชัยเมืองใหม่ รวมความยาว 11.5 กิโลเมตร
ทางยกระดับดังกล่าว มีลักษณะเป็นทางพิเศษเก็บค่าผ่านทาง มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมถนนวงแหวนรอบนอกตะวันตก ถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ และโครงข่ายของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้แก่ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก ช่วงบางขุนเทียน-บางพลี และโครงการทางพิเศษดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ลดปัญหาการจราจรติดขัด ทำให้การเดินทางสู่ภาคใต้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น
ในประเทศไทยมีทางพิเศษที่ยกระดับจากถนนเดิมอยู่ 3 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ซึ่งขนานไปกับถนนวิภาวดีรังสิตและถนนพหลโยธิน อยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง. ทางพิเศษฉลองรัช หรือ อาจณรงค์-วงแหวนรอบนอกตะวันออก ขนานไปกับถนนประดิษฐ์มนูญธรรม และทางพิเศษบูรพาวิถี หรือ บางนา-ชลบุรี ขนานไปกับถนนบางนา-ตราด อยู่ในความดูแลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
ก่อนหน้านี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมทางพิเศษสายดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก แนวสายทางเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานครบริเวณดาวคะนองไปตาม ถนนพระราม 2 จนถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 9.35 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากผ่านความเห็นชอบจะเริ่มก่อสร้างในปี 2560
ขณะเดียวกัน กรมทางหลวงยังมีแผนที่จะก่อสร้างทางยกระดับไปถึงทางแยกวังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ซึ่งตรงจุดนั้นมีโครงข่ายทางหลวงเส้นใหม่ ได้แก่ ทางพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 (นครปฐม-ชะอำ) หรือจะเป็นโครงการทางหลวงแนวใหม่ เชื่อมต่อทางแยกต่างระดับวังมะนาว ไปยังทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3510 หรือถนนปากท่อ-ท่ายาง บริเวณ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ให้เป็นเส้นทางสำรองในการเดินทางลงสู่ 14 จังหวัดภาคใต้
โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับการก่อสร้างทางยกระดับ เนื่องจากในปัจจุบันการจราจรบนถนนพระราม 2 ช่วงขาเข้ากรุงเทพฯ หนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน แต่ผมไม่ค่อยเชื่อมั่นในรูปแบบการก่อสร้าง ว่ากรมทางหลวงจะดำเนินการก่อสร้างเองโดยใช้เงินกู้จากต่างประเทศ แล้วจัดเก็บค่าผ่านทางตามระยะทางเหมือนมอเตอร์เวย์ หรือจะใช้วิธีเสนอให้เอกชนเข้าร่วมประมูลโครงการเพื่อบริหารจัดการเหมือนดอนเมืองโทลล์เวย์ ซึ่งอย่างหลังผมไม่เห็นด้วย เพราะเราเคยมีบทเรียนตั้งแต่รัฐต้องจ่ายค่าโง่ ยันถูกโขกสับค่าผ่านทางเป็น 85 บาท โดยที่ระยะทางเพียงแค่ 33 กิโลเมตรเท่านั้น
อีกประการหนึ่งที่ผมอยากให้พิจารณาก็คือ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหลังการก่อสร้าง เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าถนนพระราม 2 ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีสภาพเป็นดินอ่อน ที่ผ่านมามักจะประสบปัญหาถนนขุรขระเป็นหลุมเป็นบ่อ โดยที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน หากมีการก่อสร้างทางยกระดับขึ้นมา เมื่อมีการทรุดตัวของดิน ในช่องทางขวาสุดจะเกิดสภาพเป็นลูกคลื่นเหมือนถนนวิภาวดีรังสิต หรือหากแย่กว่านั้นถนนก็มีสภาพชำรุดทั้งเส้นเหมือนถนนบางนา-ตราด
สิ่งเหล่านี้อยากให้ฝ่ายที่สนับสนุน รวมถึงฝ่ายที่คัดค้านซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะมีอยู่ส่วนหนึ่งได้พิจารณา ถึงแม้กระบวนการปฐมนิเทศโครงการจะผ่านพ้นไปแล้ว ยังมีการสัมมนารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมของโครงการ และการสัมมนาร่างผลการศึกษาและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ผมเชื่อว่าการพัฒนาจังหวัดบ้านเราที่ดีต้องอยู่บนพื้นฐานของการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน นำมาซึ่งความพึงพอใจของทุกฝ่าย เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข