บ่อบำบัดน้ำเสียอ้อมน้อย

ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์เสียงสาคร ฉบับประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556

องค์การจัดการน้ำเสีย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับเทศบาลนครอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เตรียมเสนอโครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียนำร่องของเทศบาลนครอ้อมน้อย แก้ปัญหาน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะอย่างเป็นระบบขนาด 80,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน บนพื้นที่ 13 ไร่ ในซอยเพชรเกษม 124 พร้อมท่อรวบรวมน้ำเสียยาวกว่า 20 กิโลเมตร รับน้ำเสียจากครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่โรงบำบัดโดยตรง งบประมาณ 2,750.63 ล้านบาท เบื้องต้นคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการดำเนินการ ซึ่งจะนำเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติในเร็วๆ นี้

การก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียดังกล่าว ให้เหตุผลว่า สืบเนื่องจากการขยายตัวของตำบลอ้อมน้อยที่มีประมาณ 1 หมื่นครัวเรือน และโรงงานจำนวน 941 แห่ง ผลจากการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำโดยตรงส่งผลให้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและลุ่มน้ำท่าจีนตอนล่างประสบปัญหามลพิษทางน้ำอยู่ในขั้นวิกฤต ไม่สามารถอุปโภคใช้สอยหรือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้ ซึ่งเทคโนโลยีระบบบำบัดน้ำเสียได้รับการสนับสนุนการออกแบบก่อสร้างจากรัฐบาลสวีเดน โดยออกแบบให้เป็นระบบปิดป้องกันการฟุ้งกระจายของน้ำเสีย ป้องกันกลิ่น

โดยองค์การจัดการน้ำเสีย จะเป็นผู้บริหารจัดการระบบ 15 ปี และดำเนินการตามหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมน้ำเสีย คิดเป็นยูนิตละ 3 บาท โดยนำเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินระบบและบำรุงรักษา ตามแผนการดำเนินโครงการนั้น ปี 2557 เสนอขอจัดสรรงบประมาณ, ปี 2558-2559 เริ่มก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและระบบรวบรวมน้ำเสีย, ปี 2560 ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและระบบรวบรวมน้ำเสีย แล้วเสร็จ, ปี 2561 ทดลองเดินระบบบำบัดน้ำเสีย และประชาสัมพันธ์การมีส่วนร่วมของประชาชน จากนั้น ปี 2562 จัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียตลอดอายุสัญญา 15 ปี ถึงปี 2576 ก่อนส่งมอบให้กับเทศบาลอ้อมน้อยบริหารจัดการต่อไป

สำหรับกระบวนการในการจัดการน้ำเสียของโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียนำร่องนั้น เริ่มจากการรวบรวมน้ำเสียผ่านท่อซึ่งมีความยาว 20 กิโลเมตร เข้าสู่โรงบำบัดน้ำเสีย ผ่านตะแกรงหยาบ (Coarse Screen) จะดักขยะขนาดใหญ่ ก่อนที่น้ำเสียจะถูกสูบจากบ่อ เข้าสู่ตะแกรงละเอียด (Fine screens) จะดักขยะอย่างละเอียด เข้าสู่ถังตกตะกอนสำหรับกรวดเล็ก (Grit Chambers) ก่อนเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียแบบเอสบีอาร์ (SBR ย่อมาจาก Sequencing Batch Reactor) ก่อนจะปล่อยน้ำที่ผ่านการตกตะกอนลงสู่คลองตามธรรมชาติ ส่วนกากของเสียที่ผ่านการบำบัดจะเข้าสู่ระบบการทำให้แห้ง (Sludge Dewatering System) ก่อนนำไปกำจัดตามความเหมาะสม

แม้โครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียนำร่องของเทศบาลนครอ้อมน้อยจะยังไม่มีเสียงคัดค้านจากคนในชุมชน อีกทั้งคนอ้อมน้อยทราบกันดีว่าสภาพน้ำในคลองอ้อมน้อยปัจจุบันถูกโรงงานในพื้นที่มีการลักลอบปล่อยน้ำเสียจนทำให้น้ำเน่าเสียถึงขั้นวิกฤติ ไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ นอกจากจะมีสีดำคล้ำแล้ว ยังมีกลิ่นเหม็นฉุนรุนแรงอีกด้วย ซึ่งโครงการนี้คาดว่าชาวอ้อมน้อยเห็นชอบ เพราะแตกต่างจากกระแสคัดค้านบ่อบำบัดน้ำเสียตามจังหวัดต่างๆ ที่ไม่มีโรงงานหรือชุมชนแออัด เกรงว่าจะเกิดผลกระทบกับคุณภาพชีวิต มีกลิ่นเหม็น อากาศเสีย และพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากกลัวว่าน้ำเสียใต้ดินจะซึมไปบ่อน้ำที่ชาวบ้านใกล้เคียงต้องใช้อุปโภคบริโภค

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรจะพิจารณาเกี่ยวกับโครงการนี้ก็คือ กระบวนการบำบัดน้ำเสียดังกล่าวสารโลหะหนักจะถูกกำจัดออกไปหรือไม่ และการกำจัดกากของเสียจะมีกระบวนการอย่างไร ซึ่งหากองค์การจัดการน้ำเสียมีแผนรองรับก็ไม่น่าจะมีปัญหา สิ่งสำคัญคือ ผู้ประกอบการโรงงานที่ส่วนมากมักจะลักลอบปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะ ชาวบ้านในครัวเรือนและหอพักต่างๆ จะยินยอมนำน้ำเสียเข้าสู่ระบบการบำบัดที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ หากไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควรก็จะกลายเป็นว่า บ่อบำบัดน้ำเสียมูลค่า 2.7 พันล้านบาทอาจสูญเปล่าก็เป็นได้.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง