ดิจิตอลทีวี สมุทรสาครชมพร้อมกับคนกรุงเทพฯ

ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์เสียงสาคร ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ในปี 2557 ทีวีในบ้านเราจะเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากระบบอนาล็อกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมาเป็นระบบดิจิตอล ซึ่งมีจุดเด่นทั้งในด้านความคมชัดของภาพและเสียง การส่งข้อมูลแบบดิจิตอลสามารถทำได้มากกว่าเดิม ซึ่งหลายประเทศได้มีการพัฒนาทีวีดิจิตอลกันหมดแล้ว โดยมีจุดเด่นคือคุณภาพในการรับชมดีขึ้น ไม่มีเงา การรบกวนน้อย สามารถรับชมในยานพาหนะเคลื่อนที่ เช่น ในรถยนต์ได้ ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์รับชม

สิ่งที่น่าตื่นเต้นกว่านั้น คือ กสทช. กำหนดให้เพิ่มช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินของประเทศไทยเพิ่มเป็น 48 ช่อง แบ่งเป็นช่องฟรีทีวีที่ออกอากาศผ่านระบบเดิม (อนาล็อก) จำนวน 6 ช่อง ส่วนอีก 42 ช่อง จะเป็นช่องฟรีทีวีที่ออกอากาศในระบบดิจิตอล ซึ่งการประมูลทีวีดิจิตอลที่ผ่านไปจำนวน 24 ช่อง เมื่อรวมกับช่องเดิมที่เปลี่ยนเป็นทีวีดิจิตอลคือ ช่อง 5 หมายเลข 1, ช่อง 11 หมายเลข 2 และไทยพีบีเอสได้ 2 ช่อง คือหมายเลข 3 กับ 4 ซึ่งเป็นช่องใหม่รายการเด็ก

เท่ากับว่าในช่วงที่ออกอากาศวันแรก เราจะได้ชมทีวีดิจิตอลมากถึง 28 ช่อง หากทีวีรุ่นใหม่ที่มีจูนเนอร์ในตัว สามารถค้นหาสัญญาณครั้งเดียวแล้วรับชมได้เลย ส่วนทีวีรุ่นเก่าสามารถรับชมได้โดยการซื้ออุปกรณ์กล่องรับสัญญาณที่เรียกว่า เซท ท็อป บอกซ์ ซึ่งต้องระบุว่าเป็นกล่องรุ่น DVB-T2 (อ่านว่า ดีวีบีทีทู) ที่มีขายตามร้านขายจานดาวเทียม ส่วนคนที่ติดตั้งจานดาวเทียม เป็นสมาชิกเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น หรือทรูวิชั่นส์ ตามกฎ กสทช. ที่เรียกว่า มัสแครี่ (Must Carry) จะต้องเอาช่องรายการในทีวีดิจิตอลมาออกอากาศด้วย เพราะฉะนั้นแทบไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากทำตามคำแนะนำของผู้ประกอบการ ซึ่งอาจจะมีการประกาศปรับปรุงสัญญาณ หรือเปลี่ยนหมายเลขช่อง

วันที่ 1 เมษายน 2557 โครงข่ายทีวีดิจิตอล จะเริ่มส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดิน (เสาก้างปลา) 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ, นครราชสีมา, เชียงใหม่ และสงขลา ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครจะรับสัญญาณจากตึกใบหยก 2 กรุงเทพฯ ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ในรัศมี 100 กิโลเมตร ซึ่งจากการคำนวณ พื้นที่ อ.กระทุ่มแบน และ อ.เมืองสมุทรสาคร จะมีความเข้มของสัญญาณในระดับดี ส่วน อ.บ้านแพ้วมีความเข้มข้นระดับปานกลาง

สำหรับช่องรายการที่ผ่านการประมูลทีวีดิจิตอล ส่วนใหญ่ใครที่ติดเคเบิ้ลท้องถิ่น เราจะได้เห็นผลงานของผู้ผลิตมาแล้ว ซึ่งหลังจากประมูลทีวีดิจิตอลก็จะเปลี่ยนรูปแบบการออกอากาศมาออนแอร์ผ่านทีวีดิจิตอลแทน ได้แก่ หมวดรายการเด็ก หมายเลข 13 เป็นของไทยทีวีสีช่อง 3,หมายเลข 14 เป็นของ อสมท. ซึ่งยังไม่มีการเปิดตัวรูปแบบช่องรายการช่องออกมา, หมายเลข 15 เป็นช่อง LOCA ของเครือนิตยสารทีวีพูล

หมวดรายการข่าว หมายเลข 16 ทีเอ็นเอ็น ซึ่งมีช่องรายการข่าวเดิมผ่านทรูวิชั่นส์, หมายเลข 17 ทีเอชวี ของเครือนิตยสารทีวีพูล ซึ่งมีเครือบางกอกโพสต์ร่วมผลิตข่าว, หมายเลข 18 เดลินิวส์ทีวี ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หมายเลข 19 สปริงนิวส์ หมายเลข 20 ไบร์ท ทีวี ของบริษัท 3เอ มาร์เก็ตติ้ง, หมายเลข 21 วอยซ์ ทีวี และหมายเลข 22 เนชั่น ทีวี

หมวดรายการทั่วไป หรือวาไรตี้ ความคมชัดธรรมดา หมายเลข 23 เวิร์คพอยท์ ทีวี ซึ่งมีช่องรายการอยู่แล้ว, หมายเลข 24 ทรู ที่จะพัฒนาช่องขึ้นมาใหม่, หมายเลข 25 เป็นของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, หมายเลข 26 นาว ของเนชั่น ทีวี, หมายเลข 27 เป็นของอาร์เอส ซึ่งจะเอาช่อง 8 มาออกอากาศ, หมายเลข 28 เป็นของไทยทีวีสีช่อง 3 และหมายเลข 29 โมโน ทีวี ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมีช่องโทรทัศน์ในเคเบิ้ลทีวีเป็นของตัวเองอยู่แล้ว

ส่วนหมวดรายการทั่วไป ความคมชัดสูง หรือ เอชดี หมายเลข 30 เป็นของ อสมท. ซึ่งโมเดิร์นไนน์ทีวีจะออกอากาศช่องนี้, หมายเลข 31 เป็นของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, หมายเลข 32 ไทยรัฐทีวี ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, หมายเลข 33 เป็นของไทยทีวีสีช่อง 3, หมายเลข 34 อมรินทร์ ทีวี, หมายเลข 35 เป็นของบีบีทีวี ซึ่งช่อง 7 สีจะออกอากาศช่องนี้ และหมายเลข 36 พีพีทีวี ของตระกูลปราสาททองโอสถ



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง