เปลี่ยนนักโทษเป็นลูกเรือประมง
ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์เสียงสาคร ฉบับประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557
หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง ก็มีการจัดระเบียบหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือเรื่องแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ โดยใช้วิธีตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (วัน สตอป เซอร์วิส) เพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราว และจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวไปในตัว ปรากฏว่าหลังปิดการจดทะเบียน มีแรงงานและผู้ติดตามเข้ามาในระบบเพียง 1,626,235 คนทั่วประเทศเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาภาคการประมงในจังหวัดสมุทรสาครประสบปัญหาด้านแรงงานหลายอย่าง อาทิ แรงงานหนีจากเรือขึ้นฝั่งไปยังภาคอุตสาหกรรม จำเป็นต้องหาแรงงงานมาทดแทน นายหน้าจะอาศัยช่องทางนี้ลักลอบนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมาแสวงหาผลประโยชน์ ส่งผลให้เจ้าของเรือขาดทุน เพราะจ่ายเงินค่าจ้างแรงงานล่วงหน้าก่อนออกเรือหาปลา ส่วนคนไทยมองว่างานประมงเป็นงานที่ต่ำไม่ยอมทำ ทำให้ปัจจุบันมีคนไทยทำประมงแค่ 10% เท่านั้น
กลายมาเป็นไอเดียจาก พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีแนวทางแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ด้วยวิธีการส่งนักโทษเข้าไปทำงานในเรือประมงทดแทนแรงงานต่างด้าว ซึ่งได้เข้าร่วมหารือในระดับนโยบายกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เบื้องต้นมีแนวทางส่งนักโทษเด็ดขาดที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการพักโทษหรือเกณฑ์ใกล้พ้นโทษที่สมัครใจไปทำงานในเรือประมง เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และลดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ
ขณะที่ อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้หารือกับ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เสนอให้นำนักโทษที่ใกล้พ้นโทษอายุระหว่าง 18-25 ปี นำร่องใน จ.สมุทรสาครเป็นแห่งแรก โดยต้องเป็นความสมัครใจ ต้องมีการเตรียมความพร้อม เช่น ชี้แจงรูปแบบการทำงานในเรือประมงให้ชัดเจน และต้องได้รับการคุ้มครอง เช่น ได้รับค่าจ้าง เพราะไม่ต้องการให้เกิดแรงงานบังคับ
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดแนวคิดนี้ออกไป ก็มีเสียงคัดค้านจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) โดยระบุว่า ทางการไทยยังไม่มีการลงทุนเเละพัฒนากิจการประมง เเละอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมงทะเลอย่างพอเพียง ขาดการลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัย เเละขาดการพัฒนาบุคลากรจนกลายเป็นกิจการที่ต้องอาศัยแรงงานไร้ฝีมือเป็นจำนวนมาก ทำให้ถูกจัดเป็นงานสุดเสี่ยง แสนลำบาก และสกปรก ก่อให้เกิดข้อจำกัดในการจ้างงาน และปัญหาการค้ามนุษย์
มูลนิธิฯ เห็นว่า หากนำนักโทษกลุ่มดังกล่าวเข้ามาทำงานในเรือประมง ก็จะเป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้นและยังเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร จึงขอให้รัฐบาลทบทวนเนื่องจากไม่ใช้การแก้ปัญหาที่ตรงเหตุและไม่ทำให้เกิดความยั่งยืน และขอให้ร่วมมือกับองค์กรภาคธุรกิจ สนับสนุนการลงทุนให้มีการปรับปรุงอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัยและจัดให้มีการฝึกฝีมือกลุ่มแรงงานในกิจการอุตสาหกรรมประมงให้มีคุณภาพ
หลังมีเสียงคัดค้าน พล.อ.สุรศักดิ์ ก็ชี้แจงกลับมาว่า ผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำต้องมีการฝึกอาชีพก่อนพ้นโทษ ซึ่งการนำนักโทษมาทำงานในกิจการประมงถือเป็นการเพิ่มทางเลือก ต้องเกิดจากความสมัครใจเท่านั้น โดยผู้ประกอบการประมงยินดีที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้มีอาชีพ มีรายได้ ไม่หวนกลับไปทำผิดซ้ำ จนต้องกลับเข้าไปอยู่ในเรือนจำอีกครั้ง ที่ประเทศอังกฤษมีการจัดตั้งบริษัทรองรับผู้พ้นโทษ ทำให้ผู้ที่พ้นโทษกลับไปทำผิดซ้ำ 60% ลดลงเหลือเพียง 10% เท่านั้น
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ระหว่างกระทรวงแรงงาน กับกรมราชทัณฑ์ที่วางแนวทางเอาไว้ก็คือ ต้องเกิดจากความสมัครใจ ทั้งนายจ้างและผู้ใกล้พ้นโทษในระยะเวลา 1 ปี พร้อมมีความประพฤติดี ทั้งการทำความเข้าใจการเตรียมความพร้อมด้านทักษะ และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ โดยนำร่องในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีผู้นักโทษที่เข้าข่ายที่มีอายุ 18-25 ปี จำนวน 176 คน และต้องสอบถามความสมัครใจต่อไป คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในต้นปี 2558
คงต้องดูว่าแนวคิดนี้จะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ และจะใช้ได้จริงกับสถานที่เรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานที่กักขังในสังกัดกรมราชทัณฑ์รวม 188 แห่งทั่วประเทศอย่างไร เพราะอาชีพประมงย่อมแตกต่างจากการฝึกอาชีพในเรือนจำแน่นอน.