ถอดบทเรียนวิกฤตคลองจินดา

ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์เสียงสาคร ฉบับประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2558

ผลจากการที่แม่น้ำท่าจีนเริ่มมีน้ำทะเลหนุน ค่าความเค็มของน้ำสูงกว่าเกณฑ์ ทำให้ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้และเกษตรกรในพื้นที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม อ.กระทุ่มแบน และ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ร่วมระดมทุนกว่า 2 ล้านบาท ซื้อทรายเพื่อบรรจุบิ๊กแบก ก่อนหย่อนลงไปในคลองจินดา เพื่อป้องกันน้ำเค็มที่ขึ้นมาจากแม่น้ำท่าจีนไหลเข้ามาในพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะแหล่งปลูกกล้วยไม้เพื่อการส่งออกที่สำคัญของไทย มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 3 พันไร่

ในอดีต คลองจินดา เป็นคลองขุดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ความยาว 14 กิโลเมตร ใช้ในการคมนาคมทางเรือ ไปยังบ้านตลาดจินดา ปัจจุบันเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ทั้งสวนกล้วยไม้และสวนผลไม้ แม้คลองจินดาจะไม่ได้ไหลผ่านจังหวัดสมุทรสาคร แต่ก็มีคลองเชื่อมต่อไปยังพื้นที่การเกษตรในสองอำเภอ อาทิ คลองเขื่อนขันธ์ คลองเจ็ดริ้ว คลองตัน คลองลาดบัว คลองหนองนกไข่ ฯลฯ

ปัจจุบันคลองจินดารับน้ำจากแม่น้ำท่าจีนเป็นหลัก ขณะที่ปลายคลองจินดาซึ่งมีคลองควาย และคลองขุนเทพ มาจากทาง ต.ดอนยายหอม อ.เมืองฯ จ.นครปฐม รับน้ำมาจากแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งข้อมูลจากกรมชลประทานระบุในภายหลังว่าการเดินทางของน้ำเริ่มต้นจากเขื่อนแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี มาตามคลองสายใหญ่ฝั่งซ้าย ก่อนที่จะแยกซ้ายที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม ไปตามคลองส่งน้ำสาย 5 ซ้าย

คลองที่จะส่งไปหล่อเลี้ยงคลองจินดาเส้นแรก คือ คลองส่งน้ำสาย 6 ขวา – 5 ซ้าย ที่ ต.บ้านยาง อ.เมืองฯ จ.นครปฐม และคลองส่งน้ำสาย 7 ขวา – 5 ซ้าย ที่ ต.โพรงมะเดื่อ อ.เมืองฯ จ.นครปฐม โดยคลองชลประทานทั้งสองเส้นทาง จะไหลลงไปทางทิศใต้ออกสู่คลองหนองดินแดง ข้ามถนนเพชรเกษม จากนั้นจะไปตามคลองระบายท่าผา-บางแก้ว ก่อนที่จะไหลเป็นทอดๆ ไปถึงคลองจินดา ซึ่งจะไหลไปที่ต้นคลองจินดาในอัตราเฉลี่ย 5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีอย่างต่อเนื่อง

กรมชลประทานได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการนำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาระบายผ่านประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี ในอัตรา 10 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที และนำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองระบายผ่านคลองท่าสาร-บางปลานำน้ำลงสู่แม่น้ำนครชัยศรี ท้ายประตูระบายน้ำบางปลาในอัตราเฉลี่ย 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหลังชาวบ้านกั้นบิ๊กแบกแล้วยังนำเครื่องสูบน้ำเพื่อไล่น้ำเค็มออกไปอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาคลองจินดาประสบปัญหาไม่มีประตูน้ำที่จะช่วยสกัดกั้นไม่ให้น้ำเค็มไหลผ่านแม่น้ำท่าจีนเข้ามาในคลองจินดา แตกต่างจากคลองดำเนินสะดวกที่มีประตูน้ำบางยาง ซึ่งสร้างมานับตั้งแต่ปี 2472 อยู่แล้ว กรมชลประทานมีแผนที่จะก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำถาวรปิดกั้นในปีงบประมาณ 2558 อายุสัญญา 900 วัน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำทะเลหนุนเข้าคลองจินดาได้อย่างถาวร

ปัญหาภัยแล้งที่แหล่งน้ำจากทางภาคเหนือ ไหลลงมายังพื้นที่ลุ่มภาคกลางน้อยลง ส่งผลกระทบไปถึงแม่น้ำท่าจีนที่ได้รับน้ำน้อยลงอีกด้วย แม้จะมีน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ผนวกกับคลองท่าสาร-บางปลาไหลลงมาพื้นที่แม่น้ำท่าจีนอย่างน้อย 40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ก็เป็นไปในลักษณะที่ว่าเป็นการนำปริมาณน้ำที่สำรองไว้ใช้สำหรับทำการเกษตรในช่วงต้นฤดูฝนปี 2558 มาใช้ หากภัยแล้งกินเวลายาวนานถึง 4 เดือน ผลกระทบอาจขยายวงกว้างกว่านี้

สิ่งสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น และชาวบ้าน เกษตรกรควรจะเริ่มคิดกันล่วงหน้าได้แล้ว คือ จะทำอย่างไรหากวิกฤตขยายวงกว้างมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยส่วนใหญ่มักจะมีวิธีคิดแบบแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เวลาเกิดภัยแล้งทีก็ระดมรถบรรทุกน้ำมาแจกจ่ายที ซึ่งหากเป็นแบบนี้ทุกปีคงไม่ดีแน่ เพราะฉะนั้นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญจากวิกฤตครั้งนี้ก็คือ ทำอย่างไรถึงจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ และที่สำคัญทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหานี้แบบยั่งยืนจริงๆ

เพราะผมเชื่อว่าการสร้างประตูระบายน้ำเป็นเพียงแค่การสร้างกลไกที่ควบคุมได้อย่างหนึ่งเท่านั้น.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง