‘แรงงานเด็ก-ค้ามนุษย์’ ฉุดแปรรูปกุ้ง

ปัญหาแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้ง และการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะกับแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ดูเหมือนว่านอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจังหวัดสมุทรสาครแล้ว ยังพบว่ากระทบต่อการส่งออกสินค้าโดยเฉพาะกุ้งแช่แข็งไปยังต่างประเทศด้วยเช่นกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2555 โดยประเมินสถานการณ์และการต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลประเทศต่างๆ กว่า 186 ประเทศ พบว่าไทยเป็นประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำ ตามกฎหมายสหรัฐฯ

ในรายงานให้เหตุผลว่า ไทยมิได้แสดงหลักฐานว่ามีความพยายามเพิ่มขึ้นในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่ในปีหน้าไทยจะถูกลดระดับลงอีก ซึ่งในรายงานระบุว่า ไทยมีปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส

เฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมประมง การค้าประเวณีและการค้าเด็กเพื่อประโยชน์ทางเพศ การบังคับใช้แรงงานในการผลิตเสื้อผ้าราคาถูก โรงงานต่างๆ และงานรับใช้ตามบ้าน มีแรงงานต่างด้าวชาวพม่าตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในโรงงานอาหารทะเล มีแรงงานขัดหนี้ในกลุ่มแรงงานชาวกัมพูชา และพม่าที่ทำงานในอุตสาหกรรมประมง

นอกจากนี้ องค์การพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอในสหรัฐฯ ยังได้ประโคมข่าวถึงสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อผู้นำเข้าอาหารทะเลของสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เรียกสมาชิกผู้นำเข้าอาหารทะเลแช่แข็ง และกระป๋องจากประเทศไทยทั้งหมดมาหารือ

โดยข้อสรุปมีความเห็นร่วมกันว่า อาจต้องหยุดซื้อสินค้าอาหารทะเลจากไทยทั้งหมด หากการแก้ไขปัญหายังไม่ดีขึ้น หากเป็นเช่นนี้จริง จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารของไทยอย่างรุนแรง ซึ่งที่ในแต่ละปีมีมูลค่าการส่งออกกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 600,000 ล้านบาท และอาจกระทบต่อสินค้าประเภทอื่น เช่น เครื่องนุ่งห่มด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการที่ “สาครออนไลน์” ได้สอบถามแหล่งข่าวในแวดวงการค้าของจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่ามีผู้ประกอบการผลิตอาหารทะเลขนาดใหญ่หลายโรงงานถูกระงับการนำเข้ากุ้งแช่แข็ง และสินค้าอาหารทะเลแปรรูปบ้างแล้ว ซึ่งขณะนี้สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยกำลังหารือผู้ประกอบการ เพื่อเร่งแก้ไขสถานการณ์นี้

ที่ผ่านมาปัญหาแรงงานเด็กโดยเฉพาะกับแรงงานต่างด้าว ซึ่งในสมุทรสาครมีจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งหมดกว่า 2.5 ล้านคน สื่อมวลชนไทยมักถูกตำหนิว่ากรนำเสนอข่าวทำให้ประเทศชาติและจังหวัดสมุทรสาครเสียหาย โดยไม่ได้มีการตำหนิผู้ประกอบกรที่ละเมิดกฎหมายและข้อตกลงต่างๆ

แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือเมื่อเร็วๆ นี้ สถานีโทรทัศน์พีบีเอส ของสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาสืบเสาะและทำข่าวด้วยตัวเอง เผยแพร่ทั้งในรายการข่าวของพีบีเอส และทางอินเตอร์เน็ต ในหัวข้อ “Thai Shrimp Industry Exploits Workers to Sell Cheap Shrimp” เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตัน โพสต์ ยังได้ตีพิมพ์รายงานข่าวในหัวข้อ “In a world hungry for cheap shrimp, migrants labor overtime in Thai sheds” ระบุถึงเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

พีบีเอสเสนอว่า ไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศที่เป็นแหล่งผลิตและนำเข้ากุ้งมายังสหรัฐฯ ซึ่งกุ้งจากไทยมีราคาที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น มากกว่า 2 แสนตันต่อปี สร้างรายได้มากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ยังพบด้านมืดของธุรกิจจากการค้ามนุษย์ การทุจริต และการใช้ความรุนแรงกับแรงงานข้ามชาติจากพม่า

ในรายงานชิ้นนี้ได้สัมภาษณ์แรงงานพม่าที่ถูกกระทำในครั้งนี้อย่างน้อย 2 คน ซึ่งพูดคล้ายกันว่า ถูกเข้างานเป็นเวลาวันละหลายชั่วโมง เรียกได้ว่ามือคล้ายกับเครื่องจักรที่ต้องคอยแกะเปลือกกุ้งอยู่ตลอดเวลาแลกกับค่าตอบแทน รายที่บาดเจ็บกลับถูกนายจ้างข่มขู่จะกักขังหน่วงเหนี่ยวเมื่อขอลาหยุดเพื่อไปรักษาตัวที่คลีนิค

สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า มีโรงงานแปรรูปอาหารทะเลอยู่ 1,200-1,300 แห่ง โดยมีโรงงาน 300-400 แห่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางการ ซึ่งพบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะล้งกุ้งขนาดเล็กที่ทำหน้าที่ปอกเปลือกกุ้งก่อนส่งไปยังโรงงานขนาดใหญ่

โดยเจ้าของโรงงานรู้ว่า คนงานส่วนใหญ่จะไม่มีเอกสาร ดังนั้นพวกเขาจึงสามารถควบคุมการทำงานตามต้องการ อาทิ การกักขังไม่ให้คนงานออกมาข้างนอกจนกว่างานจะเสร็จ และนอกจากนี้ยังมีการใช้แรงงานเด็กในช่วงอายุตั้งแต่ 12-17 ปีอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจไม่เต็มใจที่จะให้ความร่วมมือและบังคับใช้กฎหมาย

สมพงษ์เสนอต่อภาครัฐเกี่ยวกับข้อกล่าวหาอย่างร้ายแรงโดยรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ควรที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเจ้าของโรงงาน ภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน แต่อาจมีอุปสรรค เนื่องจากการค้ามนุษย์เกิดขึ้นจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่และการรับสินบน

อย่างไรก็ตาม อาทร พิบูลธนพัฒนา เลขาธิการสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ให้สัมภาษณ์กับพีบีเอสระบุว่า ถ้าเป็นกุ้งจากสมาชิกของสมาคมฯ รับประกันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าไม่มีปัญหานี้ ซึ่งพวกเขาได้ตรวจสอบเป็นประจำทุกสัปดาห์แก่โรงงานที่เป็นสมาชิก หากโรงงานใดละเมิดโดยใช้แรงงนเด็กหรือมีการถูกละเมิดก็จะถูกถอดออกจากสมาชิกสมาคม

อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเป็นภาษาอังกฤษได้ที่เว็บไซต์

Thai Shrimp Industry Exploits Workers to Sell Cheap Shrimp จากเว็บไซต์ PBS
In a world hungry for cheap shrimp, migrants labor overtime in Thai sheds จากเว็บไซต์ Washington Post

นายสมชาย อ่วมเพ้ง สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวกับ “สาครออนไลน์” ว่า ไม่มีโรงงานใดถูกดำเนินคดีเรื่องแรงงานเด็ก ซึ่งถ้ามีเขาก็ต้องรู้เพราะรับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้เคยมีในอดีตเมื่อ 20 ปีก่อน ระยะหลังมีแค่ตามล้ง ตามบ้านที่ทำในครอบครัว

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายพันธ์เทพ ศรีวนิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวยอมรับว่าเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจกองปราบปรามจับแรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมายเกือบร้อยคน รวมทั้งแรงงานเด็ก และมีการกระทำในลักษณะค้ามนุษย์อีกด้วย ซึ่งถ้าต่างชาติทราบถึงการกระทำดังกล่าวก็จะถูกกีดกันทางการค้า

• สุรางค์ นาคทอง •



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง