กรมชลฯ เปิดเวทีปฐมนิเทศโครงการออกแบบปรับปรุง “คลองเจ้าเจ็ด-อ่าวไทย” ที่ จ.สมุทรสาคร

กรมชลประทาน จัดประชุมปฐมนิเทศโครงการ “งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง คลองเจ้าเจ็ด-อ่าวไทย ฯ” ตามแผนงานบริหารจัดการน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 ส.ค. ที่ห้องโชติกา โรงแรมเซ็นทรัลเพลส ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร กรมชลประทาน จัดการประชุมปฐมนิเทศโครงการ “งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง คลองเจ้าเจ็ด-อ่าวไทย จ.พระนครศรีอยุธยา” โดยมี นายสากล ชลคีรี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดการประชุม มีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการเข้าร่วมประชุม

นายอรรถพล พรหมศิริ วิศวกรโยธา เปิดเผยว่า เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการเกิดอุทกภัยบ่อยครั้งขึ้นและมีปริมาณน้ำมาก ก่อให้เกิดความเสียหายด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะมหาอุทกภัยในปี 2554 กรมชลประทาน เล็งเห็นถึงความจำเป็นดำเนินการสำรวจออกแบบ “งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง คลองเจ้าเจ็ด-อ่าวไทย จ.พระนครศรีอยุธยา” 

เป็นแผนงานที่ 4 จากทั้งหมด 9 แผนงานบริหารจัดการน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อระบายน้ำในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ดออกสู่อ่าวไทยให้ได้มากที่สุด สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เพิ่มจาก 52 เป็น 130 ลบ.ม /วินาที ช่วยลดปริมาณระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีนได้ 50 เปอร์เซ็นต์ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บหรือระบายน้ำของแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย

อีกทั้งเพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งการบริหารจัดการน้ำหลากที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนถึงชายทะเล หรือปริมาณน้ำหลากบริเวณด้านเหนือคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ที่จำเป็นต้องระบายน้ำเข้ามาในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยระบายน้ำทั้งในแนวเหนือ-ใต้ ออกสู่ทะเลร่วมกับการผันน้ำออกทางแม่น้ำจีนและแม่น้ำจ้าพระยาไม่เกินกว่าศักยภาพของสถานีสูบน้ำเดิมที่มีอยู่บริเวณริมแม่น้ำ และการบริหารจัดการน้ำเพื่อการกักเก็บน้ำและนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และชี้แจงข้อมูลรายละเอียดของโครงการให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องรับทราบในภาพรวมของโครงการ อาทิ ความเป็นมา วัตถุประสงค์ของโครงการ พื้นที่ศึกษา ขอบเขตการศึกษา แนวคิด หลักเกณฑ์การออกแบบ ประโยชน์ของโครงการ ฯ รวมถึงขอความร่วมมือในการประสานงานและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารโครงการให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับรู้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม ตลอดจนความต้องการของพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการพัฒนาโครงการร่วมกัน

ทั้งนี้ พื้นที่ตั้งโครงการดังกล่าว อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ แบ่งขอบเขตพื้นที่โครงการออกเป็น 10 โซน ซึ่งการดำเนินงานของ จ.สมุทรสาคร อยู่ในพื้นที่โซนที่ 7 พื้นที่จากคลองมหาสวัสดิ์ ถึงคลองภาษีเจริญ เป็นงานปรับปรุงคลองระบายน้ำ 3 รายการ ความยาวรวม 30.02 กม., โซนที่ 8 พื้นที่จากคลองภาษีเจริญ ถึงคลองมหาชัย-สนามชัย เป็นงานปรับปรุงคลองระบายน้ำ คลองสี่วาตากล่อม-คลองบางน้ำจืด ความยาวรวม 11.57 กม., โซนที่ 9 พื้นที่จากคลองมหาชัย-สนามชัย ถึงคลองพิทยาลงกรณ์ เป็นงานปรับปรุงคลองระบายน้ำ 5 รายการ ความยาวรวม 44.98 กม. และงานปรับปรุง/ออกแบบอาคารบังคับน้ำ คลองแสมดำ-คลองโคกขาม จำนวน 10 แห่ง และโซน 10 พื้นที่ใต้คลองพิทยาลงกรณ์ถึงชายทะเล   

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *