
รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ตรวจเยี่ยมการตรวจหาภูมิคุ้มกันในกลุ่มแรงงาน Bubble & Seal ดำเนินการ 5 วัน ตรวจครบ 4 หมื่นคน ตั้งเป้าพบผู้มีภูมิคุ้มกัน 30-40% ตรวจซ้ำอีกครั้งในเดือน มี.ค.
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 19 ก.พ. 64 ที่บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นพ.สุรวิทย์ ศักดานุภาพ และ น.ส.ศิริลักษณ์ มณีประเสริฐ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นายณภัทร์ เอมอ่อน นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร และคณะ เข้าตรวจเยี่ยมการตรวจหาภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี ในกลุ่มแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่อยู่ภายใต้มาตรการ Bubble & Seal ในโรงงาน ซึ่งได้ดำเนินการตรวจพนักงานมาเป็นวันที่ 5 แล้ว มีแรงงานของบริษัทฯ ที่ต้องเข้ารับการตรวจรวมทั้งสิ้นเกือบ 10,000 คน เฉลี่ยวันละประมาณ 2,000 คน


นายธีรพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการตรวจหาภูมิคุ้มกันนี้ จะดำเนินการเฉพาะในสถานประกอบการหรือโรงงานเป้าหมายเท่านั้น ซึ่งในระยะแรก จ.สมุทรสาคร ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา มีโรงงานเป้าหมาย 9 แห่ง แบ่งเป็นโรงงานที่ดำเนินการตามมาตรการ Bubble จำนวน 7 แห่ง และ มาตรการ Seal อีกจำนวน 2 แห่ง มีแรงงานเป้าหมายทั้งหมดประมาณ 40,000 คน โดยได้ดำเนินการตรวจครบทุกราย ส่วนตัวเลขผู้พบภูมิคุ้มกันเป็นบวกนั้น ขณะนี้ยังมียอดที่น้อยมาก เนื่องจากว่าต้องรอผลอีกระยะหนึ่ง

โดยทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ ได้ตั้งเป้าว่าจะพบผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอยู่ที่ราว 30-40 % อย่างไรก็ตามยังคงต้องคงมาตรการ Bubble & Seal ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้จนถึงวันที่ 28 ก.พ. 64 หลังจากนั้นโรงงานที่ดำเนินการตามมาตรการ Bubble & Seal มาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ก็จะไม่มีการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวต่อไปอีก ยกเว้นในส่วนของโรงงานหรือสถานประกอบการรายใหม่ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการ Bubble & Seal เช่นเดียวกัน

ด้าน ทนพ.วินัย นามธง เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ จากสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการตรวจหาภูมิคุ้มกันในกลุ่มแรงงานด้วยวิธี Rapid Test พบผู้ที่มีภูมิคุ้มกันประมาณร้อยละ 20 แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นภูมิคุ้มกันชนิดใด ต้องนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการพิเศษเพื่อหาชนิดของภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ คือแรงงานผู้นั้นเคยรับเชื้อโควิด-19 แล้วร่างกายมีความแข็งแรง ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถทำร้ายร่างกายของเขาได้ ส่วนในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น ก็จะต้องมีการติดตามผลกันต่อไป

สำหรับการตรวจหาภูมิคุ้มกันในกลุ่มแรงงานเป้าหมาย 40,000 กว่ารายนี้ จะใช้วิธีการตรวจทั้งหมด 3 วิธี คือ 1. Rapid Test เป็นการตรวจที่หน้างาน, 2. ตรวจแบบอิไลซา (ELISA) โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นการทดสอบที่ใช้แอนติบอดีและการเปลี่ยนแปลงของสีในการวิเคราะห์หรือหาตัวตนของสาร นิยมใช้ในการหาความเข้มข้นของแอนติเจนในสารละลาย และเป็นวิธีที่ใช้สำหรับการวินิจฉัยทางการแพทย์ รวมไปถึงการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ในโรงงานเช่นกัน และ 3. ตรวจแบบ neutralizing antibody โดยแลปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยหลังจากนี้ ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร จะดำเนินการตรวจหาภูมิคุ้มกันอีกเป็นครั้งที่สอง ประมาณต้นเดือน มี.ค. 64 โดยจะตรวจซ้ำในกลุ่มแรงงานเป้าหมายที่เคยตรวจครั้งแรกแล้วยังไม่พบภูมิคุ้มกัน


สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง