
กรมชลประทาน เปิดรับฟังความคิดเห็น โครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street Canal) จ.นครปฐม ระบายน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 9 ธ.ค. 64 ที่ห้องประชุม ชั้น 6 สำนักงานเทศบาลนครอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street Canal) จังหวัดนครปฐม โดยมี นายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม กรมชลประทาน, นายสากล ชลคีรี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสมุทรสาคร, นายบรรพต จันทรวงษ์ นายอำเภอกระทุ่มแบน, นายบุญชู นิลถนอม นายกเทศมนตรีนครอ้อมน้อย ผู้แทนหน่วยงานราชการ องค์กรภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วม

นายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม กรมชลประทาน กล่าวว่า เนื่องด้วยลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งน้ำสายสำคัญครอบคลุมพื้นที่ตอนกลางของประเทศไทย ด้วยปริมาณฝนตกชุกอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุทำให้เกิดน้ำหลาก จนแม่น้ำเจ้าพระยา ลำน้ำสาขา และลำน้ำอื่น ๆ รวมทั้งช่องทางการระบายน้ำต่าง ๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ทำได้ไม่เต็มศักยภาพ คลองหลายสายยังขาดความต่อเนื่อง ระบายน้ำลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและอ่าวไทยไม่ทัน ทำให้พื้นที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ทางกรมชลประทาน จึงมีโครงการระบายน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาล่าสุด คือ โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการน้ำพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก (2557-2560) โดยได้เสนอแผนรวมการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และในปี 64 ได้มอบหมายให้กิจการร่วมค้า PY PC JV ดำเนินการสำรวจ ออกแบบ โครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street Canal) จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของแผนงานที่ 4 โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก ใน 9 แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองแนวลิขิต สามารถระบายน้ำได้ 30 ลบ.ม./วินาที
ดังนั้นเพื่อเป็นการแนะนำโครงการและความจำเป็นในการพัฒนาโครงการ แนะนำคณะทำงาน รวมทั้งชี้แจงขั้นตอนงานสำรวจออกแบบของโครงการให้กับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ตลอดจนประชาชนผู้สนใจและผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ จึงได้มีการจัดประชุมปฐมนิเทศดังกล่าว

ขณะที่นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ตามที่ทราบถึงความจำเป็นของปัญหาของการระบายน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ในปัจจุบันทำได้ไม่เต็มศักยภาพ ประกอบกับปริมาณฝนตกชุกในระยะเวลาอันสั้นทำให้ไม่สามารถระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยได้ทัน ส่งผลให้หลายพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 54 สำหรับโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street Canal) จังหวัดนครปฐมนั้น หากการพัฒนาโครงการนี้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ก็จะช่วยระบายน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างตั้งแต่คลองมหาสวัสดิ์จนถึงคลองภาษีเจริญ โดยการปรับปรุง/ขุดลอกคลองระบายน้ำและอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองแนวลิขิต 1
และเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าวทั้งภาครัฐและประชาชน อันเป็นไปตามกระบวนการตามขั้นตอนนั้น จึงขอให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการนี้ ได้แสดงความคิดเห็นทั้งผลดีและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับภาครัฐ อีกทั้งยังเพื่อการนำข้อมูลและแนวคิดต่าง ๆ ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในการสำรวจ ออกแบบโครงการ เพื่อส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ “โครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street Canal) จังหวัดนครปฐม” ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่างภายในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญ โดยทำการปรับปรุงคลองเดิม ขุดคลองใหม่ ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำและอาคารบังคับน้ำตามแนวคลอง เพื่อรับน้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ และปล่อยน้ำลงคลองภาษีเจริญ

ส่วนที่กรมชลประทานเห็นชอบให้มีการดำเนินโครงการนี้ ก็เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนถึงชายทะเล หรือปริมาณน้ำหลากบริเวณด้านเหนือคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จำเป็นต้องระบายน้ำเข้ามาในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยระบายน้ำทั้งในแนวเหนือ-ใต้ ออกสู่ทะเลร่วมกับการผันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เกินกว่าศักยภาพของสถานีสูบน้ำเดิม ที่มีริมแม่น้ำและการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเก็บน้ำและนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ