ราชเลขานุการในพระองค์ฯ ลงพื้นที่สมุทรสาคร ติดตามโครงการศึกษาสำรวจแหล่งน้ำบาดาล

ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรวจติดตามโครงการศึกษาสำรวจแหล่งน้ำบาดาลระดับลึก พื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง ณ วัดสหกรณ์โฆสิตาราม จ.สมุทรสาคร

วันที่ 2 มิ.ย. 2565 เวลา 11.00 น. พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เดินทางไปยังวัดสหกรณ์โฆสิตาราม หมู่ 10 ต.โคกขาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เพื่อตรวจติดตามโครงการศึกษาสำรวจแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกพื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง (ระยะที่ 3) โดยมี นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดร.เกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล และนายศุภเวท ทองประยูร ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี รวมทั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร หัวหน้าส่วนราชการ นายก อบต.โคกขาม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

ด้วยสมุทรสาครเป็นจังหวัดชายทะเล ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร และช่วงเดือน ก.ย.-ก.พ. ของทุกปี จะประสบปัญหาน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย เนื่องจากขาดแคลนน้ำจืดเพื่อใช้ในภาคเกษตรกรรม และเพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอเพื่อการอุปโภคบริโภค ภาคอุตสาหกรรม กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาสำรวจแหล่งน้ำบาดาลระดับลึก พื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง เนื่องจากชั้นน้ำด้านบนปนเปื้อนด้วยชั้นน้ำเค็ม โดยดำเนินการในพื้นที่วัดสหกรณ์โฆสิตารามเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ปัจจุบัน จ.สมุทรสาคร มีบ่อน้ำบาดาลจำนวน 905 บ่อ มีการใช้น้ำบาดาลเพื่ออุปโภคบริโภค ธุรกิจ และเกษตรกรรม ประมาณ 120,000 ลบ.ม./วัน  ซึ่งถือว่ามีการใช้น้ำบาดาลมากที่สุดในประเทศไทย

สำหรับโครงการศึกษาสำรวจแหล่งน้ำบาดาลระดับลึก พื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง (ระยะที่ 3) เป็นบ่อบาดาล 1,000 เมตร ในชั้นตะกอนแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งขั้นตอนการสำรวจบ่อ 1,000 เมตร จะดำเนินการศึกษาสภาพธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา ธรณีฟิสิกส์และข้อมูลคลื่นไหวสะเทือน, การกำหนดจุดเจาะสำรวจ, เจาะสำรวจที่ความลึก 1,008 เมตร, หยั่งธรณีฟิสิกส์หลุมเจาะ เพื่อสำรวจชั้นดินชั้นหินในบ่อเจาะ, เก็บตัวอย่างน้ำบาดาล ด้วยวิธี Packer Test เพื่อคัดเลือกชั้นน้ำที่ดีที่สุด จากนั้นดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาบ่อน้ำบาดาล และสูบทดสอบปริมาณน้ำ ระยะเวลา 75 ชั่วโมง ซึ่งผลการดำเนินงานได้ค้นพบ 5 ชั้นน้ำบาดาลใหม่ในรอบ 30 ปี คาดว่ามีศักยภาพสูงและคุณภาพดี  ทั้งนี้ ก็เพื่อประชาชนมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรน้ำบาดาลใหม่ระดับลึกที่มีศักยภาพน้ำบาดาลสูง และเหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรมสามารถนําข้อมูลศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึกไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำภาคการผลิตได้ในอนาคตต่อไป

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *