
กรมทางหลวงชนบท และบริษัทที่ปรึกษา จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 โครงการจัดทำรายงานอีไอเอ-สำรวจออกแบบโครงสร้างต่างระดับถนนสาย สค.2055 (เอกชัยสายเก่า) ระยะทางประมาณ 12 กม. ขยายเป็น 4 ช่องจราจร สร้างทางแยกต่างระดับเชื่อม ถ.พระราม 2 ปรับปรุงด่านช่างน้ำหนัก และสร้างสะพานข้ามคลองสุนัขหอนโฉมใหม่ ให้มีความสวยงาม
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 65 นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 โครงการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบโครงสร้างต่างระดับ บริเวณจุดตัด ทล.35 ถนนสาย สค.2055 แยก ทล.35-เมืองสมุทรสงคราม จ.สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม ณ ห้องแกรนด์นรสิงห์ โรงแรมแกรนด์ อินเตอร์ โฮเทล ต.โคกขาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยมีนายจิรานุวัฒน์ จันทร์จร ผู้อำนวยการกลุ่มออกแบบทาง สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวงชนบท นายแก่นวิทย์ วงศ์ชูศิริ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทสมุทรสาคร หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการดังกล่าวเข้าร่วมประชุม





นายแก่นวิทย์ วงศ์ชูศิริ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทสมุทรสาคร กล่าวว่า ปัจจุบันถนนสาย สค.2055 หรือถนนเอกชัยสายเก่า มีปริมาณจราจรค่อนข้างสูงตลอดทั้งวัน เนื่องจากเป็นเส้นทางเลี่ยงของถนนพระราม 2 และมีแนวโน้มของปริมาณจราจรเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาด้านการจราจร และอุบัติเหตุโดยเฉพาะวันหยุดเทศกาลต่าง ๆ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาเส้นทาง รวมถึงสำรวจออกแบบโครงสร้างต่างระดับเชื่อมถนนพระราม 2 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพโครงข่ายถนนให้สมบูรณ์ และสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ
และจากการทบทวนข้อมูลสภาพแวดล้อมและสภาพพื้นที่ชุมชนพบว่าพื้นที่ศึกษาโครงการในระยะ 2 กิโลเมตร จากจุดกึ่งกลางของแนวเส้นทางอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดและพบแหล่งประวัติศาสตร์ในพื้นที่ระยะ 1 กิโลเมตร จากจุดกึ่งกลางของแนวเส้นทาง จำนวน 1 แห่ง คือ คลองสุนัขหอน ซึ่งแนวเส้นทางโครงการตัดผ่าน ทำให้โครงการเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนการดำเนินการก่อสร้างโครงการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทางหลวงชนบท จึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสำรวจออกแบบโครงการดังกล่าว ซึ่งการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาในทุกด้านของโครงการ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และประชาชนน้อยที่สุด




สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ได้นำเสนอรูปแบบแนวเส้นทาง เริ่มต้นบริเวณ กม.44+850 ด้านขวาทางของถนนพระราม 2 (ทล.35) วางตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยตัดผ่านพื้นที่โล่งระยะทางประมาณ 500 เมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทับถนนลูกรังเดิม เป็นระยะทางประมาณ 1,500 เมตร ก่อสร้างสะพานข้ามคลองสุนัขหอน โดยสะพานมีความยาว 300 เมตร จากนั้นมุ่งตรงเข้าสู่แนวสายทางถนนเอกชัยสายเก่า (สค.2055) เดิม และทับแนวเส้นทางถนนเดิม ไปสิ้นสุดแนวเส้นทางที่บริเวณ กม.12+298 รวมระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ซึ่งเป็นบริเวณจุดตัดกับทางหลวงชนบท สค.2006 ต.ลาดใหญ่ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม โดยจุดตัดทางแยกถนน 3 จุด เป็นทางแยกควบคุมการจราจรด้วยสัญญาณไฟจราจร

รูปแบบทางแยกต่างระดับบริเวณจุดเริ่มต้นโครงการ มีลักษณะเป็นสะพานกลับรถยกระดับทิศมุ่งหน้ากลับรถไปกรุงเทพฯ โดยวางแนวอยู่บนพื้นที่เกาะคั่นระหว่างทางหลักกับทางขนาน และเป็นสะพานเลี้ยวซ้ายแยกออกจากโครงสร้างสะพานกลับรถยกระดับเข้าสู่โครงการขนาด 1 ช่องจราจร สำหรับทิศทางเลี้ยวซ้ายระหว่างถนนโครงการกับถนนพระราม 2 จะเป็นถนนระดับดินเชื่อมกับทางขนานของถนนพระราม 2

ส่วนรูปแบบถนนของโครงการ ในเขตชุมชนออกแบบเป็นถนนระดับดิน ขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร พร้อมทางเท้ากว้าง 3.20 เมตร (รวมคันหินและรางตื้น) แบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางถนนกว้าง 4.60 เมตร หากอยู่นอกเขตชุมชน ข้างเขตทางจะเป็นร่องระบบระบายน้ำทั้งสองฝั่งหรือตามสภาพพื้นที่การใช้งาน รวมเขตทาง 30 เมตร รวมถึงให้มีจุดกลับรถขนาดเล็ก 10 จุด และจุดกลับรถขนาดใหญ่ 1 จุด บริเวณ กม.7+100 ใกล้กับด่านชั่งน้ำหนัก
มีการปรับปรุงด่านชั่งน้ำหนักเดิม (ด่านชั่วคราว) ให้เป็นไปตามมาตรฐานกรมทางหลวงชนบท ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ด่านชั่งน้ำหนักเดิม กม.7+500 ฝั่งทิศทางไป จ.สมุทรสาคร รวมถึงรื้อถอนสะพานเดิม 5 แห่ง ได้แก่ คลองตาก้าน คลองนาโคก คลองนิคม 2 คลองเขตเมือง และคลองลาดใหญ่ เพื่อดำเนินการก่อสร้างสะพานใหม่ทดแทน เนื่องจากขยายผิวทางเป็น 4 จราจร และคลองสุนัขหอน จะมีการก่อสร้างสะพานพร้อมปรับภูมิทัศน์บริเวณสะพานให้มีความสวยงาม


นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้ศึกษาผลกระทบที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการ ทั้งในระยะเตรียมการก่อสร้าง ระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ ครอบคลุมทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต เพื่อคัดกรองและสรุปปัจจัยที่มีนัยสำคัญนำไปศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด (EIA) สรุปผลกระทบและร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่สำคัญ แบ่งเป็น 4 ด้าน 24 ปัจจัย ดังนี้
ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ จำนวน 6 ปัจจัย ได้แก่ ทรัพยากรดิน ธรณีวิทยาและแผ่นดินไหว น้ำผิวดิน อากาศและบรรยากาศ เสียง และความสั่นสะเทือน, ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางด้านชีวภาพ จำนวน 4 ปัจจัย ได้แก่ นิเวศวิทยาทางน้ำ สัตว์ในระบบนิเวศ พืชในระบบนิเวศ และพื้นที่ชุ่มน้ำ, ด้านคุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ จำนวน 4 ปัจจัย ได้แก่ คมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค การควบคุมน้ำท่วมและการระบายน้ำ และเกษตรกรรม และด้านคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต จำนวน 10 ปัจจัย ได้แก่ เศรษฐกิจสังคม การโยกย้ายและการเวนคืน การสาธารณสุข อาชีวอนามัย อุบัติเหตุและความปลอดภัย ความปลอดภัยในสังคม สุขาภิบาล ผู้ใช้ทาง ประวัติศาสตร์และโบราณคดี และทัศนียภาพ



สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง