
ฤกษ์งามยามดีดิถีเพ็ญ 11 พฤศจิกาฯ 65 กรมทางหลวงเปิดใช้สะพานกลับรถวิภาราม ถนนพระราม 2 กม. 34 หลังปิดซ่อมแซมนานเกือบ 5 เดือน ซ้ำด้วยโศกนาฎกรรมคานสะพานถล่ม ส่งวิศวกรรมสถานฯ ตรวจสอบความแข็งแรงพบปลอดภัยตามมาตรฐาน แนะติดตามสมรรถนะของสะพานอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (11 พ.ย.) กรมทางหลวง โดยศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) ได้เปิดใช้สะพานกลับรถ ถนนพระรามที่ 2 กิโลเมตรที่ 34 หรือสะพานกลับรถวิภาราม ต.บางกระเจ้า อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสัญจรไปมาได้ตามปกติแล้ว เมื่อเวลา 06.00 น. ที่ผ่านมา หลังจากปิดการจราจรไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อซ่อมแซมสะพาน เนื่องจากผิวจราจรและโครงสร้างชำรุด มีโอกาสจะเกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนน แต่ได้เกิดโศกนาฎกรรมโครงสร้างสะพานถล่มลงมาทับรถยนต์บนถนนพระรามที่ 2 ขาเข้ากรุงเทพฯ เมื่อคืนวันที่ 31 ก.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 2 ราย รถยนต์ได้รับความเสียหาย 3 คัน




ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 22.00 น. ของวันที่ 10 พ.ย. นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง พร้อมด้วยนายไพฑูรย์ พงษ์ชวลิต, นายมนตรี เดชาสกุลสม รองอธิบดีกรมทางหลวง, นายทวีศักดิ์ รุจิจรรยาวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักก่อสร้างสะพาน, นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี), นายประลองยุทธ์ กสิวงศ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสมุทรสาคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่พร้อมด้วย รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานอนุกรรมการโครงสร้างและสะพานวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) รศ.ดร.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัด อนุกรรมการโครงสร้างและสะพาน วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และ รศ.ดร.สุนิติ สุภาพ ผู้แทนจากศูนย์บริการวิชาการมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เพื่อกำกับติดตามการทดสอบความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกของโครงสร้างสะพานดังกล่าว
นายสราวุธ กล่าวว่า กรมทางหลวง โดยศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) ได้ดำเนินงานซ่อมแซมและบูรณะโครงสร้างสะพานกลับรถดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ใช้ทางในทุกมิติ บัดนี้การซ่อมแซมและบูรณะโครงสร้างสะพานกลับรถดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถเปิดให้บริการแก่ผู้ใช้ทางได้ในวันนี้ (11 พ.ย.)




สำหรับการทดสอบการรับน้ำหนักโครงสร้างสะพาน เป็นการนำรถบรรทุกขนาดสิบล้อขึ้นไปจอดและวิ่งบนสะพานภายใต้พิกัดน้ำหนักทดสอบตามกฎหมาย (Bridge Load Test) โดยใช้รถบรรทุกน้ำหนักขนาด 25 ตัน จำนวน 4 คัน วิ่งทดสอบตามรูปแบบที่กำหนดเพื่อประเมินถึงพฤติกรรมของสะพานตามคุณสมบัติทางวิศวกรรม สำหรับการประเมินความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกของสะพานในสภาวะปัจจุบัน ความปลอดภัยสูงสุดและความมั่นใจแก่พี่น้องประชาชนผู้ใช้เส้นทาง
โดยในระหว่างการทดสอบการรับน้ำหนักโครงสร้างสะพานทุกขั้นตอนอยู่ภายใต้การกำกับ ติดตาม และประเมินผลโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากกรมทางหลวง ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และศูนย์บริการวิชาการมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เพื่อร่วมยืนยันความแข็งแรงของโครงสร้างสะพาน สร้างความมั่นใจและเชื่อมั่นในการเดินทางของประชาชน
ด้าน รศ.เอนก กล่าวว่า การดำเนินงานซ่อมแซมสะพานดังกล่าว ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ทีมวิศวกรเชี่ยวชาญ วสท. ได้ติดตามและตรวจสอบทุกขั้นตอนของการฟื้นความมั่นคงแข็งแรงของสะพานลอยกลับรถ ตั้งแต่การรื้อตัวคานสะพานและติดตั้งใหม่ การออกแบบและคำนวณ รวมทั้งการทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกจริงของโครงสร้างสะพานที่มีผลการทดสอบที่ผ่านเกณฑ์ทั้งด้านกำลัง และระยะการเคลื่อนตัวในแนวดิ่ง (Vertical Displacement) โดยมีอัตราส่วนความปลอดภัยตามมาตรฐานวิศวกรรมที่เพียงพอ ทำให้งานบูรณะสะพานลอยกลับรถแห่งนี้ สามารถเปิดให้ประชาชนใช้งานได้อย่างมั่นใจ
ทั้งนี้ วสท. ได้แนะนำให้มีการติดตามสมรรถนะของสะพานอย่างต่อเนื่องเพื่อยืนยันความสมบูรณ์ด้านเสถียรภาพของสะพาน และจะร่วมประสานงานให้คำแนะนำในด้านความปลอดภัยต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง




ส่วนงานด้านมาตรฐานความแข็งแรงของโครงสร้างนั้น รศ.ดร.สุนิติ ได้เข้าพื้นที่และดำเนินการตรวจสอบสภาพทั่วไปของโครงสร้างสะพาน รวมถึงร่วมติดตามการทดสอบ โดยใช้รถบรรทุกวิ่งบนสะพาน เพื่อนำผลการทดสอบดังกล่าวมาประเมินสมรรถนะในการรับน้ำหนักบรรทุกของโครงสร้างสะพาน จากผลการทดสอบพบว่า โครงสร้างสะพานมีความสามารถในการรับน้ำหนักรถบรรทุกได้อย่างปลอดภัย และสามารถเปิดใช้งานได้ตามแผนงานที่กรมทางหลวงกำหนด โดยโครงสร้างสะพานดังกล่าวมีความแข็งแรงและปลอดภัยเพียงพอต่อการใช้งานตามมาตรฐานวิศวกรรมที่ดี
สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ