
คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา ลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ประชุมหารือเพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมการได้มาซึ่ง สว. ชุดใหม่ ปี 2567 ก่อนชุดเดิมจะหมดวาระในเดือน พ.ค. นี้
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 12 ม.ค. 2567 ที่ห้องประชุมพันท้ายนรสิงห์ (401) ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา จัดการประชุมหารือเพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ 2567 นำโดย นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการ และประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
พร้อมด้วย นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายศรีศักดิ์ วัฒนพรมงคล สมาชิกวุฒิสภา นายณรงค์ อ่อนสอาด สมาชิกวุฒิสภา ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการฯ รวมถึง นายพงษ์พัชน์ สายช่างทอง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมอภิปราย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้แทนทหาร ตำรวจ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง และภาคเอกชน





สำหรับการประชุมหารือเพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ 2567 เนื่องด้วยสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แต่งตั้งชุดปัจจุบัน ตามบทเฉพาะกาล 250 คน จะหมดวาระในวันที่ 10 พ.ค. 2567 และสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อในฐานะสภาสูง จำนวน 200 คน มาจากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ และกลุ่มพิเศษคัดเลือกกันเอง
โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดหลักการที่มาและจำนวนวุฒิสภาตามบทบัญญัติหลัก โดยให้สมาชิกวุฒิสภา มีจำนวน 200 คน วาระดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ซึ่งจะเริ่มนับอายุตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผล มีที่มาจากการที่ผู้สมัครตามแต่ละกลุ่มอาชีพ “เลือกกันเอง” โดยบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน ทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม จำนวน 20 กลุ่ม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
ซึ่งคุณสมบัติของผู้สมัคร มีสัญชาติไทยโดยการเกิด อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันสมัครรับเลือก มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี (ยกเว้นกลุ่มสตรีหรือกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น) และผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ เกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก, มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก, เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณีเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี, เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอสมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา เป็นต้น






เมื่อผู้สมัครผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเองภายใน 20 กลุ่ม ซึ่งผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิเลือกสมัครได้แค่หนึ่งกลุ่ม และใน 1 อำเภอเท่านั้น โดยทุกกลุ่มจะทำการเลือกกันเองตั้งแต่ในระดับอำเภอ ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ 5 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม เพื่อให้ได้ 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มไปเลือกกันต่อในระดับจังหวัด ซึ่งมีขั้นตอนที่คล้ายคลึงกัน โดยขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ 5 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม เพื่อให้ได้ 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มไปเลือกกันต่อในระดับประเทศ
ส่วนการเลือกกันเองในระดับประเทศ ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ 40 คนแรกของแต่ละกลุ่ม ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม โดย 10 คนแรก ที่ได้รับคะแนนสูงสุดของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา รวมจำนวน 200 คน ส่วนผู้ที่ได้ลำดับที่ 11-15 จะเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น



ทั้งนี้ อำนาจหลักของสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ คือ พิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย รวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, มีอำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหาร และมีอำนาจให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการในองค์กรอิสระ อีกทั้งยังมีอำนาจอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งเกี่ยวกับการทำหน้าที่ในวุฒิสภาเอง เช่น การตั้งกรรมาธิการ หรือการทำงานร่วมกันกับสภาผู้แทนราษฎรอื่น ๆ หากมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็น ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งต่อประธานรัฐสภาเพื่อเปิดประชุมสภา และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวโดยไม่มีการลงมติ เป็นต้น
สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง