
ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ประธานประชุมคณะทำงานด้านปฏิบัติการกระทุ่มแบนรวมใจ ฟื้นฟูคลองใส ถวายแด่ในหลวงฯ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เลือก “คลองกระทุ่มแบน (ใต้)” ดำเนินการฟื้นฟู พร้อมมอบหมายหน่วยงานต่าง ๆ ขับเคลื่อนกิจกรรม
วานนี้ (14 ก.พ.) เวลา 09.30 น. นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานการประชุม “คณะทำงานด้านปฏิบัติการกระทุ่มแบนรวมใจ ฟื้นฟูคลองใส ถวายแด่ในหลวง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองคลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โดยมี นายชัยวัฒน์ ตุนทกิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายบรรพต จันทรวงษ์ นายอำเภอกระทุ่มแบน นายบัญชา ฤทธิศาสตร์ นายกเทศมนตรีเมืองคลองมะเดื่อ นายวิชัย แตงเอี่ยม นายกเทศมนตรีตำบลดอนไก่ดี พร้อมด้วยผู้แทนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญ สำนักงาน ทสจ.สมุทรสาคร สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม



ด้วยกระทรวงมหาดไทย แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการฟื้นฟูแหล่งน้ำตามธรรมชาติ แม่น้ำ คูคลอง หนอง บึง ให้สวยงาม โดยหากมีผู้บุกรุกต้องดำเนินการจัดระเบียบ และหากมีน้ำเน่าเสียหรือผักตบชวาต้องดำเนินการแก้ไข พร้อมทั้งได้ให้จังหวัดทุกจังหวัดเสนอชื่อแหล่งน้ำที่จะดำเนินการฟื้นฟูเพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาแหล่งน้ำในแต่ละจังหวัด กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงตั้งพะราชปณิธานแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของแม่น้ำลำคลอง โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดคัดเลือกแหล่งน้ำในจังหวัดมาฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาให้กลับสู่สภาพที่ดี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 จึงได้มีการจัดประชุมคณะทำงานด้านปฏิบัติการ กระทุ่มแบนรวมใจ ฟื้นฟูคลองใส ถวายแด่ในหลวงฯ เพื่อพิจารณาดำเนินโครงการดังกล่าวให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์



โดยจังหวัดสมุทรสาครได้พิจารณาเลือก “คลองกระทุ่มแบน (ใต้)” อยู่ในเขต อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่ดำเนินการฟื้นฟูแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งในที่ประชุมได้มีการหารือถึงสภาพปัญหาของคลองสายดังกล่าว ที่เกิดการเน่าเสียสะสมมาเป็นเวลายาวนาน และหาแนวทางฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำให้กลับสู่สภาพที่ดี โดยมีการมอบหมายภารกิจให้ส่วนราชการ/หน่วยงานฯ ดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการ การพัฒนาฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำคลองกระทุ่มแบน (ใต้) ทั้งต้นน้ำ คือการกำหนดแนวเขตคลอง การจัดการน้ำเสียในคลอง การบังคับใช้กฎหมาย การขุดลอกคลอง กำจัดสิ่งปฏิกูล, กลางน้ำ คือการจัดการน้ำเสีย การบังคับใช้กฎหมาย การตรวจสอบควบคุมคุณภาพน้ำ การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และปลายน้ำ คือการปรับปรุงภูมิทัศน์ การพัฒนาที่อยู่อาศัย และการสร้างความยั่งยืน ด้วยการสร้างจิตสำนึกของชุมชน และการเสริมสร้างองค์ความรู้ ทั้งนี้ หลังจากการประชุมเสร็จสิ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพจริงของพื้นที่คลองกระทุ่มแบน (ใต้) ด้วย




สำหรับ “คลองกระทุ่มแบน (ใต้)” มีความยาวประมาณ 6.5 กิโลเมตร กว้างเฉลี่ย 7.5 เมตร ลึก 4 เมตร เป็นคลองสำคัญที่คู่กับประชาชนในพื้นที่อย่างยาวนาน ในอดีตเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นแหล่งอาหารให้กับประชาชนในพื้นที่ บางส่วนนำมาใช้ในการทำการเกษตรเลี้ยงชีพ ตลอดจนเป็นคลองในการระบายน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัยน้ำท่วมขัง ปากคลองเชื่อมต่อกับคลองภาษีเจริญ บริเวณตลาดกระทุ่มแบน คลองไหลผ่านพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตลาดกระทุ่มแบน ดอนไก่ดี คลองมะเดื่อ และแคราย มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบในพื้นที่ ได้แก่ เทศบาลเมืองกระทุ่มแบน เทศบาลตำบลดอนไก่ดี เทศบาลเมืองคลองมะเดื่อ และเทศบาลตำบลแคราย ตลอดแนวคลองมีเส้นทางไหลเชื่อมไปยังคลองมะเดื่อ คลองแสนสุข คลองราษฎร์สามัคคี (คลองตาเฉย) และคลองหมื่นปรารมภ์ โดยคลองทั้ง 4 สาย ไหลมาบรรจบที่คลองสี่วาพาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นคลองที่จังหวัดเลือกเป็นแหล่งน้ำในการดำเนินโครงการพัฒนาฟื้นฟูและแก้ไขปัญหา ประจำปี 2566 (ประกาศทางน้ำชลประทาน 135 สาย)


สำหรับสภาพปัญหา “คลองกระทุ่มแบน (ใต้)” ในปัจจุบันเกิดการเน่าเสียจากน้ำทิ้งและสิ่งปฏิกูลจากแหล่งชุมชน/สถานประกอบการ ที่ตั้งอยู่บริเวณคลอง ส่งผลให้เกิดน้ำเน่าเสียสะสมในปริมาณมาก มีสารปนเปื้อนในอัตราที่สูง โดยมีแหล่งกำเนิดน้ำเสียทั้งจาก 1. สถานประกอบการ/โรงงาน มีการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงในแหล่งน้ำ, 2. ชุมชน อาทิ บ้านพัก ห้องเช่า และตลาด เป็นต้น ไม่ได้มีการบำบัดน้ำอย่างเหมาะสม, 3. ท่อระบายน้ำทางสาธารณะ มีสถานประกอบการ โรงงาน อาคาร บ้านเรือน ได้ระบายน้ำทิ้งลงท่อระบายน้ำสาธารณะแล้วปล่อยลงคลองสาธารณะ
และ 4. อิทธิพลของน้ำขึ้น-น้ำลง ในช่วงน้ำลงจะมีการเปิดประตูระบายน้ำเพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเล ขณะเดียวกันน้ำเหนือที่ไหลผ่านจังหวัดซึ่งเป็นน้ำดีจะช่วยดันน้ำเสียออกจากพื้นที่ ด้านอิทธิพลน้ำขึ้น เมื่อถึงระดับที่ต้องปิดประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้ปริมาณน้ำเข้าไปในพื้นที่มากเกินไปจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำดีอยู่ในระบบส่วนหนึ่ง ซึ่งในแต่ละสายคลองจะมีเกณฑ์การควบคุมปริมาณน้ำขั้นต่ำ-ขั้นสูง แตกต่างกัน โดยหากระบายน้ำมากเกินไปอาจส่งผลให้ตลิ่งพังทลาย หากเก็บน้ำมากเกินไปจะทำให้ลันตลิ่ง


สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง