รองนายกรัฐมนตรี ลงเรือเร็วตรวจติดตามมาตรการควบคุมกองเรือประมง สั่งประกาศหาเจ้าของเรือประมงจอดทิ้งแสดงตัวตนภายใน 7 วันก่อนขายทอดตลาด พร้อมเดินหน้าตรวจสอบ 22 จังหวัดชายทะเลทั่วประเทศ
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 6 มิ.ย. 2561 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามมาตรการควบคุมกองเรือประมงในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ เสนาธิการทหารเรือ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะ
โดยมี นายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ ผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร ผู้แทนชาวประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ซึ่งพล.อ.ฉัตรชัย พร้อมคณะผู้ติดตามและสื่อมวลชน ลงเรือตรวจการณ์ของกรมเจ้าท่าและกรมประมง ตั้งแต่ท่าเรือเทศบาล คลองมหาชัย และแม่น้ำท่าจีน เพื่อออกตรวจเรือประมงที่ถูกล็อคพังงาและทาสีส้มสลับขาวไว้ที่ตัวเรือตลอดทั้งสองฝั่งคลองและแม่น้ำ
พล.อ.ฉัตรชัย เปิดเผยว่า ตลอดเส้นทางการลงเรือตรวจการณ์ตามเส้นทางดังกล่าว มีเรือประมงและเรือที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงที่ถูกควบคุมมิให้ออกจากท่าเทียบเรือ เนื่องจากไม่มีทะเบียนเรือ ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง รวมถึงอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเรือดังกล่าวที่ถูกล็อคไม่ให้ออกจากท่าเป็นเรือประมงจำนวน 134 ลำ เป็นเรือที่ไม่มีชื่อเรือ ไม่มีทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือหมดอายุ รวมถึงอยู่ระหว่างการต่อและบางลำจมน้ำ
ดังนั้น จึงได้สั่งการกรมเจ้าท่า ติดประกาศที่เรือหรือท่าเทียบเรือให้เจ้าของเรือมาแสดงตัวภายใน 7 วัน หากไม่มีผู้มาแสดงตัว กรมเจ้าท่าจะดำเนินการนำไปขายทอดตลาดตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 และจะให้ดำเนินการเช่นเดียวกันทุกจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการกำจัดเรือจม ซากเรือต่าง ๆ ที่ไม่ถูกต้องและผิดกฎหมายให้หมดสิ้นไป
สำหรับการมาติดตามมาตรการควบคุมและบริหารจัดการกองเรือประมงครั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย ชี้แจงว่า เนื่องจากได้มีการปรับปรุงระบบการทำงานภายในกรมเจ้าท่าเกี่ยวกับการควบคุมเรือประมงทั้งหมด ดังนั้นเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าทุกระดับต้องมีความความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ เพราะระบบการทำงานใหม่นี้กรมเจ้าท่าจะต้องเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานอื่น ๆ อย่างทันเวลาในทุกสถานการณ์
เช่น ตำรวจท้องที่ กรมประมง ทหารเรือ อัยการ ศาล เพื่อสามารถบริหารจัดการควบคุมเรือไร้สัญชาติ เรือที่ไม่มีที่มาที่ไป และเรือที่ปฏิบัติผิดกฎหมาย เรือคดีต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ให้ออกไปทำการประมงหรือกลับเข้ามาสู่ระบบประมงของประเทศไทยได้อีก เรียกได้ว่าต่อไปนี้เรือผีต้องไม่มีในประเทศไทย ส่วนเรือจม เรือพังทั้งหลายนั้น ได้จัดชุดปฏิบัติการพิเศษและเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ติดตามตัวเจ้าของหมดแล้ว เพื่อให้ยืนยันข้อมูลว่า จมที่ไหน พังที่ไหน ขายไปที่ไหน อย่างไร เพื่อมิให้เรือเหล่านี้ถูกนำมาใช้สวมเรือ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานานอีกอย่างเด็ดขาด
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ภายในสัปดาห์นี้กรมเจ้าท่าจะออกระเบียบเป็นหลักเกณฑ์ของราชการเพิ่มเติมให้เข้มข้นขึ้น เช่น อู่ต่อเรือต้องขึ้นทะเบียน เรือทุกลำก่อนต่อเรือต้องถูกตรวจสอบแปลนเรือ ไม่รับจดทะเบียนเรือประมงที่ไม่มีการจัดทำอัตลักษณ์ หรือไม่มีหมายเลข IMO เรือประมงที่ต่อใบอนุญาตใช้เรือประจำปีต้องเข้ารับการตรวจสภาพเรือทุกลำ โดยการอนุมัติให้รับจดทะเบียนเรือหรือไม่ ให้ทำในรูปแบบคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ตำรวจ ประมง ทหารเรือ มิใช่กรมเจ้าท่าเพียงหน่วยงานเดียวอีกต่อไป
ส่วนเรือขนถ่ายสินค้าทั่วไปทุกลำขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไปต้องติดระบบติดตามเรือ AIS เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่าไปบรรทุกปลาที่ไหน หรือไม่ อย่างไร ได้ตลอดเวลา ด้วยมาตรการนี้จะทำให้มั่นใจได้ว่ากองเรือประมงไทยปราศจากเรือผิดกฎหมาย เรือผี เรือสวม ได้อย่างเด็ดขาด เป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศ IUU Free ภายใน 3 ปี และเป็นผู้นำอาเซียนด้านการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายเพื่อการประมงที่ยั่งยืน ก่อนที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปี พ.ศ. 2562
สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง