กรมทรัพย์สินทางปัญญา นำคณะเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศภูฎาน มาศึกษาดูงานกระบวนการผลิตและการตลาด มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว สินค้า GI สมุทรสาคร
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 มิ.ย. 2561 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้นำคณะเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศภูฎาน มาศึกษาดูงานกระบวนการผลิตและการตลาดมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว นำโดย Mr.Tempa Tshering Deputy Chief Intellectual Property Officer, Industrial Property Division, Ministry of Economic Affairs โดยมี น.ส.มารศรี ติปยานนท์ พาณิชย์จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านแพ้ว ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกมะพร้าวน้ำหอมจังหวัดสมุทรสาคร และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร นายบุญลอย ทรัพย์มา หมู่ 5 ต.บ้านแพ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร
พาณิชย์จังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ให้นโยบายและให้ความสำคัญในการเสริมสร้างฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เข็มแข็ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ให้การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้ครบทั้ง 77 จังหวัด และส่งเสริมการขึ้นทะเบียน GI ไทยในต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดสินค้า GI ไทยที่มีศักยภาพ
ในการนี้ จังหวัดสมุทรสาครได้ดำเนินการจัดทำคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้ามะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. 2560 โดยกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว ซึ่งมีสมาชิกกลุ่ม จำนวน 27 คน และได้รับการรับรองมาตรฐานปลอดภัยในการผลิต (GAP) จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนประกาศโฆษณาการรับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เล่มที่ 34 เลขที่ประกาศ 116 ลงวันที่ 2 มี.ค. 2561 หากไม่มีบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยื่นคำคัดค้านการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ภายใน 90 วัน กรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็จะประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้กับมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้วเป็นลำดับต่อไป
ซึ่งการมาศึกษาดูงาน ของคณะเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศภูฎานในครั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่ของจังหวัดสมุทรสาคร หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะเจ้าหน้าที่ภูฎานจะได้รับความรู้ และกระบวนการผลิตมะพร้าวน้ำหอมที่ได้รับการขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ของจังหวัดสมุทรสาคร และได้รับการพิจารณาต่อยอดไปสู่การทำธุรกิจมะพร้าวน้ำหอมระหว่าง ไทยและภูฎาน ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดของเกษตรกรผู้ผลิตมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครต่อไป
สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ