“นอภ.เมืองสมุทรสาคร” ลุยตรวจโรงงานในพื้นที่ ต.บางกระเจ้า หลังชาวบ้านร้องเรียน

นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง นายตรวจโรงงาน สนง.อุตสาหกรรมจังหวัดฯ ฯลฯ บูรณาการร่วมกับ อบต.บางกระเจ้า เข้าตรวจสอบโรงงานในพื้นที่ 3 แห่ง ตามที่มีชาวบ้านร้องเรียน

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ภายใต้การอำนวยการของนายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายเอกพร จุ้ยสำราญ ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร ได้มอบหมายให้นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเมืองสมุทรสาคร พร้อมสมาชิก อส.อำเภอเมือง นายทรงเดช ผ่องฉวี วิศวกรนายตรวจโรงงาน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร, นายชัยพัฒน์ ดอนไม้ชัย นักวิชาการสิ่งแวดล้อม สำนักงาน ทสจ.สมุทรสาคร, นายพิษณุ สุรชีวาวัฒน์ นักวิชาการแรงงาน สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร

พร้อมตำรวจ สภ.เมืองสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลบางกระเจ้า นำโดย พ.จ.อ.พงศ์เลิศ วงศ์จิตสุภา ปลัด อบต.บางกระเจ้า, นายปัญญา สุริย์แสง รองปลัด อบต.บางกระเจ้า รวมทั้ง ผอ.กองช่าง และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบโรงงาน 3 แห่ง ตามที่มีชาวบ้านร้องเรียนในพื้นที่ ต.บางกระเจ้า อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร

โดยเมื่อเวลา 09.30 น. นายวุฒิพงษ์ และคณะ ได้เข้าตรวจสอบบริษัทจำหน่ายรถฟอคลิฟท์ และซ่อมรถฟอคลิฟท์แห่งหนึ่ง ในพื้นที่หมู่ 2 ต.บางกระเจ้า กรณีมีเรื่องร้องเรียนว่ามีบริษัทลักลอบปล่อยน้ำเสียลงในที่เอกชนและลงคลองสาธารณะ จากการตรวจสอบพบระบบรางระบายน้ำจากกระบวนการล้างรถและเครื่องยนต์ขณะที่จะนำมาซ่อม มีการปล่อยลงบ่อกับเก็บน้ำซึ่งมีท่อที่สามารถปล่อยออกสู่ภายนอกโดยไม่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสีย และบริเวณรางระบายน้ำก็มีท่อปล่อยออกนอกบริษัท

และจากการตรวจสอบบริเวณซ่อมพบมีเครื่องจักร เครื่องปั๊ม เครื่องปั๊มลม ตู้เชื่อม ซึ่งมีเครื่องจักรมากกว่า 5 แรงม้าขึ้นไป จึงขอดูเอกสารการประกอบกิจการโรงงาน ปรากฎว่าไม่ได้มีการขออนุญาตตั้งโรงงาน ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 รวมทั้งมีการนำน้ำมันเครื่องเก่าที่ใช้แล้วออกนอกโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ทางนายตรวจโรงงานจะได้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ต่อไป ในส่วนของทาง อบต.บางกระเจ้า ได้ตรวจสอบบริเวณบริษัท พบว่ามีการก่อสร้างบางส่วนไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522  จะได้มีการออกคำสั่งให้มีการขออนุญาตในส่วนที่เกี่ยวข้อง และหากไม่สามารถขออนุญาตต่อเติมได้ ก็จะได้มีคำสั่งให้รื้อถอนต่อไป

จากนั้นเวลา 12.30 น. นายวุฒิพงษ์และคณะ ได้เข้าตรวจสอบโรงงานผลิตอลูมิเนียมแห่งหนึ่ง ในพื้นที่หมู่ 2 ต.บางกระเจ้า กรณีมีเรื่องร้องเรียนว่ามีบริษัทลักลอบปล่อยน้ำเสียลงในที่เอกชนและลงคลองสาธารณะ จากการตรวจสอบพบว่ามีใบอนุญาตตั้งโรงงาน (รง.4) แต่บริเวณจุดดักเขม่าควัน มีการใช้พัดลมดูดเข้ามาที่ถังน้ำ (ม่านน้ำ) พบว่าในระบบบำบัดควันโดยม่านน้ำ มีการปล่อยน้ำที่ใช้ในระบบม่านน้ำออกโดยใช้ท่อปล่อยลงในที่ดินข้างเคียง และมีการต่อเติมอาคารโดยไม่ได้มีการขออนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัด ส่วนบริเวณตัดโลหะอลูมิเนียม มีการระบายน้ำหล่อเย็นไหลรวมกับเศษอลูมิเนียม (ฝุ่นอลูมิเนียม) ไหลลงที่ดินข้างเคียงโดยไม่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสีย

อีกทั้งในร่องระบายน้ำฝน มีคราบน้ำมันและสิ่งปฏิกูลจากกระบวนการผลิต และมีร่องรอยการตักสิ่งปฏิกูลที่ไม่ใช้แล้วในร่องระบายน้ำออกนอกโรงงานไปในที่ดินข้างเคียง จึงได้มีการเก็บดินบริเวณที่ปล่อยไปวิเคราะห์ รวมทั้งได้มีการตรวจสอบพื้นที่รอบแนวรั้วของโรงงานมีร่องรอยคราบน้ำที่ไหลออกจากรั้วโรงงานชัดเจน รวมทั้งมีร่อยรอบการขุดร่องน้ำในที่ดินข้างเคียงเพื่อระบายน้ำออกลงคลองสุนัขหอน ส่วนการชุบเส้นอลูมิเนียม (ชุบ Anodizing) ไม่พบว่ามีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาต ข้อ 3 ลำดับที่ 2 ของใบอนุญาต รง.4

มีการวางกองวัสดุต่างๆ ในบริเวณลานคอนกรีต โดยไม่มีหลังคาคลุม บริเวณร่องระบายน้ำในส่วนด้านในโรงงาน มีการปล่อยน้ำลงคลองบางไผ่เตี้ย ซึ่งทางโรงงานบอกว่าเป็นรางระบายน้ำฝน ซึ่งขณะตรวจสอบไม่มีฝนตก แต่มีการไหลของน้ำในร่องระบายน้ำลงคลองตลอดเวลา ในส่วนของกระบวนการนำกำจัดกาก ตะกอน จากกระบวนการผลิต ไม่มีเอกสารให้ตรวจสอบ จึงได้ให้ทางโรงงานส่งเอกสารให้ตรวจสอบ หากไม่สามารถหาได้หรือไม่มีเอกสารให้ตรวจสอบ ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ในส่วนที่การขนกากของเสียออกนอกโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ ทางนายตรวจโรงงาน ได้ทำบันทึกและแจ้งให้ทางโรงงานดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ในส่วนที่แก้ไขได้ ส่วนที่ผิดกฎหมายได้สั่งให้ระงับในส่วนที่ไม่มีระบบบำบัด และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ส่วน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ทาง อบต.บางกระเจ้า ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการนำเอกสารเกี่ยวกับใบอนุญาตการปลูกสร้างมาแสดง หากไม่เป็นไปตามแบบที่ขออนุญาต หรือมีการต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็จะได้มีการคำสั่งให้แก้ไขและรื้อถอนต่อไป

และเมื่อเวลา 15.30 น. นายวุฒิพงษ์และคณะ ได้เข้าตรวจสอบโรงงานพลาสติกแห่งหนึ่ง ในพื้นที่หมู่ 7 ต.บางกระเจ้า กรณีได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการประกอบกิจการหลอมพลาสติกส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง โดยผลการตรวจสอบพบว่ามีการปล่อยน้ำจากกระบวนการล้างพลาสติกออกนอกโรงงานโดยไม่ผ่านการบำบัด และมีกองเศษวัสดุซึ่งเป็นของในกระบวนการผลิตอยู่ภายนอกโรงงาน ซึ่งนายตรวจโรงงานได้สั่งดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 และได้มีการจัดเก็บวัตถุดิบไปตรวจสอบว่าว่าเป็นวัตถุอันตรายหรือไม่

อีกทั้งภายในโรงงาน พบแรงงานต่างด้าวจำนวน 10 คน จึงทำการตรวจสอบเอกสารการทำงาน พบว่ามีแรงงานต่างด้าว 8 คน เป็นแรงงาน MOU แต่นายจ้างเดิมได้แจ้งหลบหนี และได้ตรวจสอบไม่มีเอกสารในการทำงานกับนายจ้างใหม่ ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 8  คนงานต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และมาตรา 9 นายจ้างรับคนงานต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2561 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 101 คนงานต่างด้าวมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งออกนอกราชอาณาจักร ส่วนนายจ้างมีโทษปรับตามมาตรา 102 ตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท โดยแรงงานต่างด้าวได้ทำบันทึกจับกุมส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรสาคร และส่วนนายจ้าง ทางพนักงานสอบสวนจะได้หมายเรียกมารับข้อกล่าวหาต่อไป

ในส่วนของ อบต.บางกระเจ้า ได้มีการตรวจสอบอาคาร พบว่ามีการต่อเติมโดยไม่มีการขออนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งทาง อบต.บางกระเจ้า จะได้ออกคำสั่งให้รื้อถอนต่อไป และในส่วนของการประกอบกิจการอันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะได้มีคำสั่งให้ระงับกิจการในส่วนที่เกี่ยวกับระบบการล้างจนกว่าจะได้มีการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียเรียบร้อย

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *