19 มกราคม 2425 สิ้น “ช่วง บุนนาค” สมเด็จเจ้าพระยาคนสุดท้าย ณ ปากคลองกระทุ่มแบน

ในสมัยโบราณ “สมเด็จเจ้าพระยา” เป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางไทยระดับสูงสุด มีครั้งแรกในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช 

หากเทียบกับตำแหน่งในปัจจุบัน คือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประธานองคมนตรี หรือผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) ฯลฯ

ประเทศไทยเคยมีผู้ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาทั้งหมด 4 ท่าน คือ “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” บรรดาศักดิ์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ก่อนขึ้นปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ได้มีการสถาปนา “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)” ศักดินา 30,000 ผู้สำเร็จราชการทั่วพระราชอาณาจักร เป็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และ “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)” ศักดินา 30,000 ผู้สำเร็จราชการพระนคร 

ทั้งสองเป็นบุตรของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ซึ่งเป็นสหายสนิทและคู่เขยของรัชกาลที่ 1 ผู้คนทั่วไปเรียกเจ้าคุณชายดิศ ผู้เป็นพี่ชายว่า “สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่” และเจ้าคุณชายทัต ผู้เป็นน้องชายว่า “สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย”

และในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้มีการสถาปนา “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)” ศักดินา 30,000 ผู้มีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองของสยาม และเคยเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์

อีกทั้งมีความเกี่ยวพันกับจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะเป็นผู้ดำเนินการขุดคลองดำเนินสะดวก และวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน ก็ได้ถึงแก่พิราลัยที่ปากคลองกระทุ่มแบนด้วย 

“สาครออนไลน์” ขอนำประวัติของท่านมาบอกเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกัน เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพิราลัย ซึ่งตรงกับวันที่ 19 มกราคมของทุกปี


อนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
ประดิษฐานอยู่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ศาลสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา บริเวณสนามฟุตบอล หน้าอาคารวิเศษศุภวัตร์

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นบุตรชายคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์ ธิดาเจ้าพระยาพลเทพ (ทองอิน) น้องกรมหมื่นนรินทรภักดี  

เกิดเมื่อปีมะโรง วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ ตรงกับวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2351 ตรงกับช่วงปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 1 ที่บ้านสมุหพระกลาโหม อยู่ระหว่างกำแพงพระบรมมหาราชวัง กับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 9 คน สมรสกับท่านผู้หญิงกลิ่น มีบุตรและธิดารวมกัน 4 คน

ในวัยเยาว์ ท่านได้เล่าเรียนที่วัดพอประมาณ แต่ได้รับการศึกษาและฝึกฝนวิชาการต่าง ๆ จากผู้เป็นบิดา ขณะมีตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีว่าการต่างประเทศ และว่าการปกครองหัวเมืองชายฝั่งทะเลมาก่อน ทำให้รอบรู้ในเรื่องการต่างประเทศ การเมืองการปกครองเป็นอย่างดี

ในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่ออายุราว 16 ปี บิดาซึ่งขณะนั้นเป็นพระยาพระคลัง นำไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก และทำงานด้านพระคลังและกรมท่าอยู่กับบิดา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะที่ท่านเป็นหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก ก็ได้ศึกษาวิชาต่อเรือกำปั่นแบบฝรั่ง และได้ต่อ “เรือกำปั่นบริค” ลำแรกเข้ามาถวายรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2378 และได้พระราชทานชื่อเรือว่า “แกล้วกลางสมุทร” 

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ รับราชการมีความชอบมาก ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์มาตามลำดับ ในปี พ.ศ. 2384 เป็น “จมื่นไวยาวรนาถหัวหมื่นหมาดเล็ก” และในปี พ.ศ. 2393 เป็น “พระยาศรีสุริยวงศ์” ในตอนปลายรัชกาลที่ 3

เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ได้เลื่อนขึ้นเป็น “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ว่าที่สมุหกลาโหม” พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตราศรพระขรรค์พระราชทานสำหรับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ในปี พ.ศ. 2394 ขณะที่มีอายุได้ 43 ปี นับเป็นข้าราชการที่มีอายุน้อยที่สุดในตำแหน่งสมุหพระกลาโหม

ในปี พ.ศ. 2398 เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษทรงแต่งตั้ง “เซอร์ จอห์น เบาว์ริง” เข้ามาทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับไทย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็น 1 ใน 5 คน ที่รัชกาลที่ 4 ทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการฝ่ายสยาม ซึ่งการทำสนธิสัญญาสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี

คลองดำเนินสะดวก

ในปี พ.ศ. 2409 รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้อำนวยการขุดคลองเชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง ระหว่างจังหวัดสมุทรสาคร ราชบุรี และสมุทรสงคราม โดยใช้งบประมาณจากทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ฯ จำนวน 400 ชั่ง และทุนทรัพย์ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์อีก 1,000 ชั่ง รวม 1,400 ชั่ง หรือ 112,000 บาท

ใช้กำลังของทหาร ข้าราชการ ชาวบ้าน และชาวจีนร่วมกันขุดคลอง โดยใช้วิธีการแบ่งขุดระยะเว้นระยะ ระยะหนึ่งยาว 100 เส้น (4 กม.) พอน้ำหลากน้ำก็จะกัดเซาะดินส่วนที่ไม่ได้ขุดให้พังไปเอง

เมื่อขุดคลองสำเร็จแล้ว รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นคลองที่มีเส้นตรง ได้รับความสะดวกในการสัญจร จึงพระราชทานนามคลองนี้ว่า “คลองดำเนินสะดวก” และได้ทำพิธีเปิดใช้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2411 อีกทั้งยังได้สร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่งที่บริเวณหลักห้าของคลองไว้เป็นอนุสรณ์ ชื่อว่า วัดปราสาทสิทธิ์ธิดาราม หรือ “วัดปราสาทสิทธิ์” ในปัจจุบัน


อนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค)
ภายในวัดปราสาทสิทธิ์

เข้าสู่แผ่นดินรัชกาลที่ 5 ทรงขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ขณะทรงมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ที่ประชุมเสนาบดีเห็นสมควรแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน มีอำนาจอาญาสิทธิ์ที่จะปกครองประเทศ และประหารชีวิตผู้กระทำความผิดขั้นอุกฤษฏ์ได้

การทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้มีบทบาทสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดินด้านต่าง ๆ  และยังได้จัดการพระราชานุกิจของรัชกาลที่ 5 เมื่อยังทรงพระเยาว์ ทั้งถวายด้านการศึกษา ขนบธรรมเนียมประเพณี การออกว่าราชการ และพระจริยาวัตรอื่น ๆ เพื่อเตรียมพระองค์ให้ทรงพร้อมที่จะปกครองแผ่นดิน

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา ได้มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 ท่านจึงพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์” 

เมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มักออกไปพำนักอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ด้วยเหตุผลว่าอากาศดี ไกลจากปัญหาทางการเมือง แต่หากครั้งใดที่ในพระนครมีเหตุ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ต้องกลับเข้ามาและเข้าเฝ้าฯ ทุกครั้ง 

และแล้ววันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2425 ท่านถึงแก่พิราลัยด้วยโรคลม ขณะที่กำลังเดินทางกลับจากราชบุรี รวมอายุได้ 74 ปี 27 วัน 

โดยจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ได้บรรยายถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน สมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เดินทางไปฉลองศาลาที่สร้างไว้ที่ด่านมะขามเตี้ย เมืองกาญจนบุรี ขณะล่องเรือมาถึงกลอนโต ก็ได้ขึ้นบกไปเก็บมะขามป้อม หามกันไปกลางแดดเวลาเที่ยง ท่านก็เริ่มมีอาการป่วยหนัก จึงนำตัวท่านล่องเรือกลับมาที่ราชบุรี เป็นเวลาครึ่งคืน 

เมื่อมาถึงเมืองราชบุรีในช่วงบ่ายโมงเศษก็หามท่านขึ้นบก พอถึงหน้าบ้านก็เป็นลมคอพับ ท่านก็ถูกหามเข้าไปในเรือน เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) บุตรชายคนโตซึ่งตามมาภายหลังมาถึง จึงพร้อมกันพาท่านลงเรือกลับจวนที่พระนครเวลาบ่าย 5 โมงเศษ

“เรือไฟจูงมาพ้นคลองดำเนินสะดวกมาแล้ว จะเข้าคลองภาษีเจริญ ก็ติดน้ำ ๆ แห้ง จึงไปรอน้ำอยู่ปากคลองกระทุ่มแบน ถึงปากคลองเวลา 5 ทุ่มเศษ ชักเยื้องไหล่หน่อยหนึ่ง ก็ถึงแก่พิราลัยที่ปากคลองกระทุ่มแบนนั้น ครั้งน้ำขึ้นจึงรีบเอาศพเข้ามาถึงจวนเวลากรู่ ๆ” – ส่วนหนึ่งจากจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน 

ปากคลองกระทุ่มแบน ตัดกับคลองภาษีเจริญ สถานที่ซึ่ง “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์” ถึงแก่พิราลัย ตามบันทึกในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน

ภายหลังการถึงแก่พิราลัย รัชกาลที่ 5 ทรงรดน้ำศพพระราชทาน พร้อมทั้งพระราชทานโกศกุดั่นน้อยประกอบลองใน ตั้งบนแว่นฟ้า พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ไว้ทุกข์เป็นระยะเวลา 7 วัน 

และในวันชักศพเข้าเมรุ ณ วัดบุปผารามวรวิหาร ธนบุรี พระองค์ทรงโปรดฯ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ จัดทหารจำนวน 100 คนไปแห่ศพ พร้อมทั้งพระราชทานเปลี่ยนโกศประกอบลองในเป็นโกศกุดั่นใหญ่เพื่อเป็นเกียรติยศ และเสด็จพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2427

ตลอดชีวิต 5 แผ่นดิน ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้ทำงานสนองคุณแผ่นดิน สร้างผลงานต่าง ๆ ไว้มากมาย ให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งคนไทยและคนต่างชาติตราบจนทุกวันนี้

– กิตติกร นาคทอง –

One Reply to “19 มกราคม 2425 สิ้น “ช่วง บุนนาค” สมเด็จเจ้าพระยาคนสุดท้าย ณ ปากคลองกระทุ่มแบน”

  1. คุณกิตติกร ฯครับ
    ขณะนี้ คุณภาพน้ำ และสภาพคลองดำเนินสะดวก บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอบ้านแพ้ว ทิศทางไปประตูน้ำบางยาง เริ่มมีสีดำคล้ำ และมีขยะพลาสติกลอยอยู่มากมาย
    เสียดายที่บรรพบุรุษของคนไทยเรา ได้ขุดคลองนี้ขึ้นมาเพื่อประโยชน์นานัปการ …ขณะคนรุ่นลูกหลาน ไม่ได้ปกปักรักษาไว้เลย
    บางคนกลับมีส่วนทำให้น้ำเน่าเสีย หรือทิ้งขยะลงในคลองเสียเลย…….
    …น่าเสียดาย
    น่าเสียดายยิ่งนัก.
    ………………………..

Leave a Reply to อาเปี๊ยกงัย Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *