ระวังภัย “กากสารเคมี” ในสมุทรสาคร
ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์เสียงสาคร ฉบับประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556
เมื่อวันก่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกันลงพื้นที่ซอยกองพนันพล ถนนเอกชัย หมู่ 2 ต.บางน้ำจืด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ด้านหลอมอะลูมิเนียม มีโรงงานรวม 74 โรง หลังได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบ พบการกระทำความผิด คือ ระบบบำบัดมลพิษทางอากาศชำรุด ไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการจัดเก็บของเสีย และประกอบกิจการรีไซเคิลหลอมตะกรันโดยไม่ได้รับอนุญาต เบื้องต้นสั่งให้โรงงาน 47 แห่งปรับปรุงระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ สั่งให้โรงงาน 52 แห่งที่ไม่ปฏิบัติเรื่องการจัดเก็บของเสียปรับปรุงโดยด่วน สั่งให้โรงงาน 2 แห่ง ปิดปรับปรุงชั่วคราว รวมทั้งสั่งให้ผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาต 13 รายระงับการประกอบกิจการทันที ส่วนบริเวณด้านหลังโรงงานที่มีการลักลอบทิ้งกากตะกรันอลูมิเนียม ได้สั่งการให้ลงขันจ้างบริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือเจนโก้ เข้ามารับซื้อไปกำจัดอย่างถูกวิธี
นอกจากนี้ยังมีคำสั่งย้ายด่วน นายไสว โลจนะศุภฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงที่รับผิดชอบเรื่องกากไปยังตำแหน่งอื่นตามความเหมาะสม พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย เนื่องจากพบว่าออกใบอนุญาตไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการอนุญาตให้มีการส่งออกวัตถุอันตรายบางชนิดออกนอกประเทศ, ปล่อยให้ผู้ประกอบการเอกชนแทรกแซงการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่สามารถดูแลควบคุมกากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกากอันตรายให้มีประสิทธิภาพได้ ซึ่งปัจจุบันมีการขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมอันตรายออกจากโรงงานทั่วประเทศ 2.8 ล้านตันต่อปี แต่มีผู้ประกอบการยื่นเอกสารเข้ามาเพียง 1 ล้านราย
วันต่อมา อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยเทศบาลตำบลบางหญ้าแพรก เข้าตรวจสอบที่ดินรกร้างในโครงการหมู่บ้านพาราไดซ์ สปริงซ์ หมู่ 6 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมืองฯ หลังได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านว่า มีรถบรรทุกลักลอบนำสารพิษเข้ามาทิ้ง พบตะกรันอลูมิเนียมทั้งสภาพเก่าและใหม่ บรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ็กขนาด 1 ตัน จำนวนกว่า 150 ถุง บางถุงสภาพขาดลุ่ยจนตะกรันอลูมิเนียมออกมากองอยู่กับพื้นดินเป็นกองโต นอกจากนี้ บริเวณบ่อขุดหน้าดินห่างจากจุดแรกประมาณ 500 เมตร พบตะกอนคาร์บอนแบล็คและเศษพลาสติกจำนวนมาก และพบสายพลาสติกที่ใช้คาดกล่องหรือผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อบริษัทแห่งหนึ่งถูกทิ้งรวมอยู่ด้วย ซึ่งได้ข้อมูลรถบรรทุกที่นำกากสารเคมีมาลักลอบทิ้งแล้ว
ที่ผ่านมาปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นหลัก เนื่องจากมีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก ข้อมูลจากเว็บไซต์ไทยพับลิก้าระบุว่า พบการลักลอบทิ้งขยะและกากอุตสาหกรรมมากกว่า 40 แห่งในภาคตะวันออก แต่ละแห่งมีลักษณะการเอาเข้ามาทิ้งโดยไม่ผ่านกระบวนการบำบัดอย่างถูกวิธี ได้แก่ ทิ้งน้ำเสียและกากอุตสาหกรรมในบ่อลูกรังและพื้นที่รกร้าง โดยเจ้าของพื้นที่รับรู้และไม่รับรู้ หรือจะเป็นการทิ้งในพื้นที่โรงงาน และโรงบำบัดที่ไม่ได้คุณภาพ และการลักลอบทิ้งในพื้นที่และแหล่งน้ำสาธารณะ โดยขบวนการลักลอบทิ้งจะใช้ช่องว่างในช่วงเวลาที่ปลอดคน เช่น เวลากลางคืน ซึ้งพื้นที่เป้าหมายที่สำคัญคือพื้นที่เป็นบ่อลูกรังหรือพื้นที่ที่ตักหน้าดินไปขาย
ทุกวันนี้ขบวนการลักลอบทิ้งกากสารเคมีกำลังระบาดมากขึ้น ลามมาถึงจังหวัดสมุทรสาคร และมองว่าเจ้าหน้าที่รัฐหย่อนยาน เพราะมีโทษปรับเพียงแค่ 200,000 บาทเท่านั้น อีกทั้งให้บริษัทเอกชนมืออาชีพจัดการอย่างถูกวิธี จะต้องเสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 10,000 บาทต่อตัน ขณะที่ขบวนการลักลอบทิ้งกากของเสียจะคิดค่าใช้จ่ายถูกมาก เพียงแค่ 1,000-2,000 บาทเท่านั้น แต่ความเสียหายด้านมลพิษและอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนนั้นประเมินค่าไม่ได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัยคงต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตากับพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะในจุดล่อแหลม พื้นที่รกร้างว่างเปล่า ที่อาจจะถูกลักลอบนำกากสารพิษอันตรายมาทิ้ง ดีกว่าที่จะรอเวลาที่กากสารเคมีล้นเมือง ส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งลำบากที่จะต้องกำจัด และส่งผลอันตรายถึงสุขภาพอนามัยของคนพื้นที่โดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่อีกด้วย