
ประธานคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม พร้อมเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม บมจ.ยูนิคอร์ด จ.สมุทรสาคร ติดตามผล “โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ” เผยผู้ประกันตนได้รับการตรวจสุขภาพทั่วประเทศกว่า 2.8 แสนคน
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 พล.ต.ท.นายแพทย์ธนา ธุระเจน ประธานคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงาน “โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ” ณ บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ถ.เศรษฐกิจ 1 หมู่ 8 ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ร่วมกับคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม นางชณิการ์ โกวะประดิษฐ์ ประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร นายอมรพันธ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส คณะผู้บริหาร บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมให้การต้อนรับ



นพ.ธนา ธุระเจน ประธานคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม เปิดเผยว่า ตนในฐานะประธานคณะกรรมการการแพทย์ฯ โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน มีความมุ่งหวังให้ผู้ประกันตนได้รับการดูแลส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิของประเทศ เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดความเจ็บป่วย ก่อนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะไม่กระทบต่อการทำงานและคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน
โดยคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม ได้มีการออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ฯ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการการตรวจสุขภาพ พร้อมจัดกิจกรรมติดตามและประเมินผลสุขภาพ ให้แก่ผู้ประกันตนในสถานประกอบการ มาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ในช่วงแรกได้นำร่องในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร ต่อมาได้ขยายเพิ่มเติมอีก 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา สงขลา และสุราษฎร์ธานี รวมเป็น 13 จังหวัด โดยได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการในพื้นที่ จำนวนทั้งสิ้น 1,959 แห่ง และได้รับความร่วมมือจากสถานพยาบาลเข้าร่วมบันทึกความร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคม จำนวน 15 แห่ง
จากการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว มีผู้ประกันตนได้รับการตรวจสุขภาพทั่วประเทศ จำนวน 282,052 ราย พบว่า ผู้ประกันตนมีผลตรวจปกติ (ความเสี่ยงน้อย) จำนวน 27,488 ราย (ร้อยละ 9.75) และผลตรวจผิดปกติ (ความเสี่ยงปานกลาง/ความเสี่ยงสูง) จำนวน 254,465 ราย (ร้อยละ 90.25) ซึ่งผู้ประกันตนกลุ่มที่พบความผิดปกติจะได้รับความรู้และเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างถูกต้องต่อเนื่อง


ทางด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ในปี 2567 การดำเนินการ “โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ” ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ด้วยการตรวจคัดกรองความเสี่ยงจากผลเลือด (น้ำตาล-ไขมัน) และปัจจัยพฤติกรรม (การนอน การออกกำลังกาย) พบว่า มีผู้ประกันตนมีความเสี่ยงจากการป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในระดับปานกลาง-สูง จำนวน 35,207 คน (ร้อยละ 90) ของจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 38,549 คน และผู้ประกันตนประมาณ 30,500 คน (ร้อยละ 80) ตัดสินใจเข้ารับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามคำแนะนำสุขภาพจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ
ซึ่งในวันนี้ ประธานคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม พร้อมคณะฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ ณ บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) เนื่องจากเป็นบริษัทที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามโครงการฯ จนเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพของผู้ประกันตนอย่างเห็นได้ชัด และผลักดันการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ให้ความรู้อย่างต่อเนื่องกับผู้ประกันตนที่เข้าร่วมโครงการฯ ส่งผลให้มีผู้ประกันตนรับรู้ความเสี่ยงและดำเนินการลดน้ำหนักได้จำนวนมาก ค่าไขมันและค่าน้ำตาลลดลง อยู่ในเกณฑ์ดีเป็นที่น่าพอใจ จะเห็นได้ว่าโครงการนี้ฯ เป็นโมเดลการดูแลสุขภาพที่เห็นผลและใกล้ชิดกับผู้ประกันตนในสถานประกอบการเห็นได้อย่างชัดเจน



เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว สำนักงานประกันสังคมยังมี “โครงการให้บริการทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม” นำร่องการรักษาผู้ประกันตนประเภทผู้ป่วยใน ด้วยการผ่าตัดหรือการทำหัตถการใน 5 โรค โดยที่ผ่านมามีโรงพยาบาลเข้าร่วมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการให้บริการทางการแพทย์ไปแล้ว จำนวน 76 แห่ง ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาและประเมินจากกรรมการแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิแล้วว่ามีศักยภาพและมีมาตรฐาน
มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการทำหัตถการแล้ว จำนวน 14,428 ราย แบ่งเป็น หัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด 8,802 ราย หัตถการนิ่วในไต และถุงน้ำดี 2,675 ราย การผ่าตัดมะเร็งเต้านม 215 ราย การผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูกและหรือรังไข่ 2,580 ราย หัตถการโรคหลอดเลือดสมอง 156 ราย (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 – 1 ก.พ. 2567
ด้วยเหตุผลนี้ เพื่อสร้างสุขภาพดีที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ประกันตน คณะกรรมการการแพทย์โดยความเห็นชอบของบอร์ดประกันสังคม จึงขยายระยะเวลาการดำเนินการโครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการต่อไปอีก 6 เดือน จนถึงเดือน มิ.ย. 2567 และจะมีการติดตามประเมินผล เพื่อต่อยอดกับบริการอื่น ๆ พร้อมพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบในการจัดบริการทางการแพทย์ ในกลุ่มโรคที่เป็นปัญหาสำหรับผู้ประกันตน



เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนมีความเชื่อมั่นว่า “โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ” จะส่งผลดีต่อผู้ประกันตนในวัยแรงงาน ให้ดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น ทำให้แรงงานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้ง สำนักงานประกันสังคมยินดีให้การสนับสนุนดูแลสุขภาพผู้ประกันตน เพราะทุกท่านคือ “คนในครอบครัวประกันสังคม”
สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง