
อบจ.สมุทรสาคร ร่วมกับชาวหนองสองห้อง จัดโครงการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทยทรงดำ ปี 2567 เอกอัครราชทูต สปป.ลาว ประจำประเทศไทย เข้าร่วมด้วย
เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 2 เม.ย. 2667 วัดหนองสองห้อง ต.หนองสองห้อง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร (อบจ.สมุทรสาคร) ร่วมกับเทศบาลตำบลหลักห้า และพี่น้องชาวไทยทรงดำของจังหวัดสมุทรสาคร จัดโครงการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทยทรงดำ ประจำปี 2567 โดยได้รับเกียรติจาก นายคำพัน อั่นลาวัน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประจำประเทศไทย เข้าร่วมงาน มีนายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร เป็นประธานเปิดโครงการฯ พร้อมด้วย นายพิรุณโรจน์ นาคดนตรี นายอำเภอบ้านแพ้ว นางขวัญดาว สุมนัส นายกเทศมนตรีตำบลหลักห้า หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และพี่น้องชาวไทยทรงดำ ทั้งจากใน จ.สมุทรสาคร และพื้นที่อื่นทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก



นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ด้วยจังหวัดสมุทรสาครเป็นแหล่งรวมอารยะธรรมอันเก่าแก่ของประเทศไทยจังหวัดหนึ่ง มีกลุ่มชนชาติพันธุ์หลากหลายเชื้อชาติอพยพมาอาศัยอยู่ร่วมกัน มีกลุ่มคนไทยเชื้อสายลาวโซ่ง หรือไทยทรงดำ ซึ่งเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน รวมถึงวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองสองห้อง และโรงเข้ อำเภอบ้านแพ้ว ซึ่งจะมีการรวมตัวกันของชาวไทยทรงดำในพื้นที่และตำบลข้างเคียง ในวันที่ 2 เมษายนของทุกปี เพื่อส่งเสริม สืบสาน ศิลปวัฒนธรรมและอนุรักษ์ประเพณีที่ดีงาม ให้คงอยู่สืบต่อไปจนถึงอนุชนคนรุ่นหลัง



อบจ.สมุทรสาคร ได้ตระหนักและเล็งเห็น ถึงความสำคัญของการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีงาม จึงได้จัดทำโครงการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทยทรงดำ อบจ.สมุทรสาคร ประจำปี 2567 ขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริม สืบสานศิลปวัฒนธรรม อนุรักษ์ประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่น และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกันของเยาวชน และประชาชนชาติพันธุ์ไทยทรงดำ ให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี มีความเข้มแข็ง ส่งเสริมให้ได้มีการพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ อีกทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวทางด้านวัฒนธรรมประเพณีของจังหวัดสมุทรสาครต่อไป



ขณะที่กิจกรรมภายในโครงการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทยทรงดำในปีนี้ มีการจัดนิทรรศการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการทอผ้า การเย็บปักถักร้อย การแต่งกายด้วยผ้าพื้นบ้าน การประกอบอาหารพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้าน (เล่นคอน) การแสดงทางวัฒนธรรมด้านดนตรี(เล่นแคน และการฟ้อนแคน) การแสดงด้านศิลปะ การร่ายรำ การร้องและดนตรีพื้นบ้าน เป็นต้น ซึ่งผู้เข้าร่วมงานต่างแต่งกายด้วยชุดประจำถิ่นของชาวไทยทรงดำ อันเป็นเอกลักษณ์ที่มีมาอย่างยาวนานถึง 245 ปี นับตั้งแต่ชาวไทยทรงดำ หรือชาวลาวโซ่ง อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในผืนแผ่นดินไทย
สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ