ประมงสมุทรสาคร เปิดปฏิบัติการ ลงแขกจับ “ปลาหมอคางดำ” ชูผลงานกำจัดไปแล้ว 4.7 แสน กก.

สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับพันธมิตรฯ เปิดปฏิบัติการ “ลงแขก ลงคลอง” ครั้งที่ 1 ตัดวงจร “ปลาหมอคางดำ” เอเลี่ยนสปีชี่ส์ในแหล่งน้ำ ตามนโยบาย รมว.เกษตรฯ ชูสมุทรสาครจังหวัดต้นแบบกำจัดมากที่สุดในไทย ยอดจับสะสมกว่า 4 เดือน ได้ยอดกว่า 4.7 แสนกิโลกรัม

วันนี้ (9 ก.ค.) เวลา 10.00 น. ที่บริเวณริมคลองท่าแร้ง หน้าวัดยกกระบัตร หมู่ 6 ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับพันธมิตร เปิดปฏิบัติการดีเดย์ “ลงแขก ลงคลอง” ครั้งที่ 1 รวมพลนักล่า กำจัดวายร้ายปลาหมอคางดำให้สิ้นซาก โดยมี ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร นายพิรุณโรจน์ นาคดนตรี นายอำเภอบ้านแพ้ว นางขวัญดาว สุมนัส นายกเทศมนตรีตำบลหลักห้า นายกมล ไกรวัตนุสสรณ์ ประธานชมรมเรืออวนลาก จังหวัดสมุทรสาคร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพันธมิตรผู้ประกอบการโรงงานปลาป่น แพปลา ชาวประมงพื้นบ้าน และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วม

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่พบปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นสายพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่น หรือ “เอเลียนสปีชีส์” ในแหล่งน้ำทุกประเภท ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย เป็นการทำลายระบบนิเวศ ขณะนี้พบการแพร่ระบาดอย่างหนักในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ดังนั้นเพื่อเป็นการร่วมกันตัดวงจรชีวิตและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำให้สิ้นซาก จึงได้มีการจัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อร่วมกันกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติในจังหวัดสมุทรสาคร  อีกทั้งยังเพื่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งสมุทรสาครนับเป็นจังหวัดต้นแบบที่นำร่องในเรื่องของการกำจัดปลาหมอคางดำได้มากที่สุดในประเทศไทย ภายในกิจกรรม มีการใช้เรืออวนรุนลงล่าปลาหมอคางดำ การตั้งโต๊ะรับซื้อ ระดมอาวุธครบมือ เช่น แห อวน ข่าย อวนรุน ฯลฯ รวมถึงการรับประทานอาหารเมนูปลาหมอคางดำร่วมกันของผู้เข้าร่วมงาน

ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรและสหกรณ์ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และและรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ จึงได้ให้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำมาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ และหลังจากนั้นก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมา โดยมีนายอรรถกร สิริรัถยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ในการขับเคลื่อนแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ และได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด ให้ขับเคลื่อนนโยบายของกรมประมงในการเร่งกำจัดปลาหมอคางดำให้เร็วที่สุด

โดยเฉพาะที่จังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้มีผลการปฏิบัติงานที่เด่นชัด คือ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. ถึงสิ้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา สามารถกำจัดปลาหมอคางดำไปได้แล้วกว่า 470,000 กิโลกรัม ส่วนเรื่องของการของบประมาณเพื่อดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่การดำเนินงานในช่วงแรกสิ้นสุดลงแล้วนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับทางสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ว่าจะเสนอโครงการไปถึงอธิบดีกรมประมงอย่างไร เพื่อนำสู่การพิจารณาอนุมัติงบเพิ่มเติมต่อไป

ทางด้าน นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า สำหรับแนวทางการกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ณ ปัจจุบันนี้ เริ่มจากการให้เรืออวนรุนที่เดิมใช้รุนเคย มาช่วยกันรุนปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเรืออวนรุนนี้เป็นเรือที่มีเครื่องมือเหมาะสมต่อการกำจัดปลาหมอคางดำมากที่สุด โดยหลังจากที่ดำเนินการมานั้น ก็นับได้ว่าจังหวัดสมุทรสาครมีการจับปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติได้มากที่สุดของประเทศ นอกจากนี้ยังได้ขยายการกำจัดไปยังบ่อเลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำที่ปลาหมอคางดำหลุดเข้าจนทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลา กุ้ง ได้รับความเดือดร้อน ส่วนคนที่จะนำปลาหมอคางดำมาขายได้นั้น ก็จะต้องมีการขึ้นทะเบียนก่อน ว่าเป็นผู้ได้รับการอนุญาตให้จับปลาหมอคางดำ หรือเป็นผู้ที่เดือดร้อนจากการรุกพื้นที่ของปลาหมอคางดำ จนทำให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกร โดยปลาหมอคางดำที่แพปลารับซื้อมาแล้วนั้น ก็จะส่งเข้าโรงงานปลาป่น 2 แห่งในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ได้เปิดเผยผลการปฏิบัติงาน ตามโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ จังหวัดสมุทรสาคร ระหว่างวันที่ 15 ก.พ. – 30 มิ.ย. 2567 โดยสามารถกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติในจังหวัดสมุทรสาคร รวมทั้งหมด 470,929 กิโลกรัม (470 ตัน) จำแนกเป็น จับด้วยเครื่องมือประมง อวนรุน น้ำหนักรวม 315,550 กิโลกรัม (315 ตัน) จับด้วยเครื่องมือประมง ยกยอ น้ำหนักรวม 1,870 กิโลกรัม (1.8 ตัน) จับด้วยเครื่องมือประมง อวนทับตลิ่ง น้ำหนักรวม 369 กิโลกรัม (0.3 ตัน) และรวบรวมจากบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกร น้ำหนักรวม 148,726 กิโลกรัม (149 ตัน) ขายให้กับบริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร และบริษัท อุตสาหกรรมปลาป่นท่าจีน จำกัด ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ในราคา 7-10 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงขาว จับด้วยอวนล้อมจับในคลองธรรมชาติ เพื่อนำไปเป็นอาหารของปลากะพงขาว น้ำหนักรวม 4,414 กิโลกรัม (4.4 ตัน) อีกด้วย

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *