ทล. เล็งปรับปรุง ถ.พระราม 2 ขยายเป็น 14 ช่องจราจร ช่วงดูโฮม – คลองเขตเมือง ระยะทางกว่า 14 กม.

กรมทางหลวง จัดประชุมปฐมนิเทศโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาจราจรบนทางหลวงหมายเลข 35 ตอน บ.วังน้ำวน-บ.นาโคก ระยะทาง 14.570 กม. เล็งขยาย 14 ช่องจราจรเต็มเขตทาง หลังพบบางช่วงไม่มีทางคู่ขนาน พร้อมปรับให้เดินรถทางเดียว ยกระดับคันทาง ออกแบบสะพานคู่ขนานเพิ่มเติม ปรับปรุงไหล่ทาง ทางเท้า จุดกลับรถ ฯลฯ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 ส.ค. 2567 ที่ห้องประชุมโชติกา โรงแรมเซ็นทรัลเพลส ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร นายชัยวัฒน์ ตุนทกิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 1) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาจราจรบนทางหลวงหมายเลข 35 ตอน บ.วังน้ำวน-บ.นาโคก โดยมี นายศิรวัชร์ เอมโอช วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมทางหลวง พร้อมด้วย ผู้แทนบริษัทที่ปรึกษา หัวหน้าส่วนราชการ ส.อบจ.สมุทรสาคร คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดสมุทรสาคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่โครงการฯ เข้าร่วม

นายศิรวัชร์ เอมโอช วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมทางหลวง เปิดเผยว่า ในปัจจุบันทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ที่พาดผ่านจังหวัดสมุทรสาคร ช่วง กม.39+300 ถึง กม.53+870 ในบางช่วงยังไม่มีทางคู่ขนานเกิดปัญหาการจราจรติดขัด โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนและช่วงเทศกาลต่าง ๆ เนื่องจากสองข้างทางมีชุมชน โรงงาน และสถานประกอบการ หนาแน่น ส่งผลให้มีรถบรรทุกขนาดใหญ่เดินทางขนส่งสินค้าผ่านถนนสายนี้อย่างไม่ขาดสาย

และเพื่อรองรับการก่อสร้างสถานีบริการทางหลวง (Service Area) ของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย M82 ที่จะก่อสร้างในอนาคต รวมถึงรองรับทางรถไฟสายแม่กลองที่ตัดผ่านแนวเส้นทาง จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจรระดับดินให้มีความเหมาะสม รวมทั้งสอดคล้องกับการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมของทางหลวงและรองรับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย M82 เพื่อให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมอย่างบูรณาการช่วยอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ทาง ตลอดจนช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยว และรองรับการขนส่งสินค้าเกษตรรวมถึงสินค้าอื่น ๆระหว่างภาคกลางและภาคใต้

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพื้นที่ศึกษาในระยะ 1 กม. จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ พบคลองสุนัขหอน ซึ่งเป็นทางสัญจรโบราณไหลผ่านแนวเส้นทางโครงการ บริเวณ กม.45+960 รวมทั้งพบพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) จึงเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก่อนดำเนินการก่อสร้างโครงการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้าง บริษัท ซิตี้ แพลน โปรเฟสชันนอล จำกัด, บริษัท เอเชีย แล็ป แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท อินเทลแพลน จำกัด และบริษัท วิสิทธิ์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าว

สำหรับการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 1) ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของโครงการ ความเป็นมา วัตถุประสงค์ของการศึกษา ขอบเขตการศึกษา การตรวจสอบข้อจำกัดและเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจร บนทางหลวงหมายเลข 35 ตอน บ.วังน้ำวน – บ.นาโคก มีระยะเวลาดำเนินงาน 450 วัน ตั้งแต่ 26 มิ.ย. 2567 ถึง 18 ก.ย. 2568 พื้นที่โครงการ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร ที่ตำบลชัยมงคล บ้านบ่อ บางโทรัด กาหลง นาโคก และจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ตำบลลาดใหญ่ จุดเริ่มต้นโครงการถนนพระราม 2 กม.39+300 ใกล้กับห้างสรรพสินค้าดูโฮม สาขาพระราม 2 ถึงจุดสิ้นสุดโครงการที่ กม. 53+870 บริเวณคลองเขตเมือง รวมระยะทางประมาณ 14.570 กม. เขตทาง 80 ม.

โดยลักษณะโครงการ เป็นการสำรวจและออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 35 ในช่วงดังกล่าว ให้มีจำนวนช่องจราจรที่เหมาะสม สอดคล้องกับระดับการให้บริการ รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงทางแยก จุดกลับรถ สะพานข้ามทางรถไฟ โครงสร้างชั้นทางเดิม พร้อมระบบระบายน้ำ สาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องและส่วนประกอบอื่น ๆ ที่จำเป็นให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ โครงข่ายทางหลวง ปริมาณการจราจรในอนาคต โดยให้สอดคล้องกับผลการศึกษาของโครงการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบรายละเอียด รวมถึงรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เคยมีการศึกษาไว้แล้ว เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ทางด้านการจราจรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งคำนึงถึงความปลอดภัย ลดผลกระทบต่อชุมชน และสภาพแวดล้อมในแนวสายทาง

ทั้งนี้ แนวคิดเบื้องต้น เป็นการออกแบบให้สอดคล้องกับผลการทบทวนการศึกษาเดิม ได้แก่ ขยายจำนวนช่องจราจรให้เต็มเขตทาง ตามมาตรฐานกรมทางหลวง (14 ช่องจราจรไป-กลับ แบ่งเป็นช่องทางหลัก 8 ช่องจราจร และทางคู่ขนาน 6 ช่องจราจร), ปรับปรุงการเดินรถจากสองทิศทางเป็นทิศทางเดียว, ปรับปรุงยกระดับคันทาง ยกระดับคันทางขึ้นหากพบว่าบริเวณนั้นมีปัญหาน้ำท่วม, ปรับปรุงออกแบบสะพานคู่ขนานเพิ่มเติม (ยกระดับสูงกว่าสะพานเดิม/ระดับเท่าสะพานเดิม), ปรับปรุงไหล่ทางและทางเท้าให้เหมาะสม, พิจารณาปรับปรุงตำแหน่งจุดกลับรถ ให้มีความสอดคล้องกับการเดินรถทิศทางเดียว ให้เพียงพอและอยู่ในระยะที่เหมาะสม และพิจารณาปรับปรุงบริเวณด่านชั่งน้ำหนักและหน่วยบริการประชาชนตำรวจทางหลวง เป็นต้น

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

ประชาสัมพันธ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *