
ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร นั่งประธานประชุมคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดฯ ทางด้านประมงจังหวัดสมุทรสาคร รายงานผลการกำจัดปลาหมอคางดำใน 5 มาตรการ ตั้งแต่เดือน ก.พ. ถึงปัจจุบัน ได้ยอดกว่า 1,700 ตัน
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 25 พ.ย. 2567 ที่ห้องประชุมมหาชัย (201) ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานประชุมคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดสมุทรสาคร ครั้งที่ 3/2567 โดยมีนายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร นางสุวีรยา ปั้นปาน พาณิชย์จังหวัดสมุทรสาคร นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนนายอำเภอทั้ง 3 อำเภอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนชาวประมง เข้าร่วมการประชุม

ซึ่งในที่ประชุมดังกล่าว ทางประมงจังหวัดสมุทรสาครได้รายงานผลการดำเนินการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ โดยทางจังหวัดสมุทรสาคร ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำในจังหวัดสมุทรสาคร และกำหนด 5 มาตรการป้องกันและกำจัดปลาหมอคางดำ ได้แก่ 1. การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการระบาด 2. การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว และปลาอีกง เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ 3. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปลาป่น แปรรูปเป็นหลายเมนู 4. การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่าง ๆ และ 5. การประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับทุกภาคส่วน

สำหรับผลการดำเนินงานกำจัดปลาหมอคางดำ จังหวัดสมุทรสาคร ปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. – 14 พ.ย. 2567 รวมกำจัดแล้ว 1,742,936 กก. แบ่งเป็น ปลาจากบ่อฯ 1,010,872.5 กก. ปลาจากธรรมชาติ 732,063.5 กก. ซึ่งในช่วงแรกของการดำเนินงานฯ เดือน ก.พ. – ก.ค. 2567 ได้ขายปลาหมอคางดำให้กับบริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด กก. ละ 10 บาท จำนวน 586,422 กก. ขายให้กับบริษัท อุตสาหกรรมปลาป่นท่าจีน จำกัด กก.ละ 7 บาท จำนวน 21,468 กก. และขายให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลา ประมาณ 4,000 กก. รวมถึงนำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อนำไปใช้ในการเกษตรของสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 จำนวน 2,400 กก. ขายให้กับเกษตรกรในจังหวัดสุโขทัย กก.ละ 7 บาท จำนวน 2,220 กก. และขายให้ศูนย์วิจัยอาหารและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำจังหวัดชลบุรี จำนวน 300 กก.

ส่วนในช่วงที่ 2 ของการดำเนินงานฯ เดือน ส.ค. – ก.ย. 2567 ได้ส่งให้การยางแห่งประเทศไทย (1-19 ส.ค. 2567) จำนวน 378,571 กก. ทางซีพีเอฟ รับซื้อปลาหมอคางดำ 2 ล้าน กก. เพื่อผลิตเป็นปลาป่น (19 ส.ค. – 31 ต.ค. 2567) จำนวน 751,180 กก. นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567 – 30 เม.ย. 2568 กลุ่มจังหวัดใกล้เคียง ประกอบดัวย จังหวัดชลบุรี เพชรบุรี นนทบุรี ปราจีนบุรี และสมุทรปราการ ได้นำปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาทำเป็นปลาร้าไปแล้ว จำนวน 23,133 กก.

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ