
เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ประชุมหารือแนวทางเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ส่วนกรณีอดีตพระมหาทิวากร เรื่องเส้นทางการเงินให้ทางตำรวจตรวจสอบ ชี้เหมือนไฟไหม้ที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า และเกิดขึ้นหลายปีแล้ว เป็นอุทาหรณ์แก่คณะสงฆ์ในจังหวัด
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 18 ก.ค. 2568 ที่ห้องประชุมวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร พระราชวัชรสาครคณี เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน โดยมีนายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึง รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสาคร นายอำเภอทั้ง 3 อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ก่อนเริ่มประชุม พระราชวัชรสาครคณี ได้ส่งมอบเงินบริจาคส่วนที่เหลือราว 30,000 บาท ที่อดีตพระมหาทิวากร ดีไพร อดีตเจ้าอาวาสวัดใหญ่จอมปราสาท มอบไว้เมื่อครั้งลาสิกขา เพื่อส่งคืนแก่วัดใหญ่จอมปราสาท โดยมีพระครูสาครสุตกิจ เจ้าคณะตำบลท่าฉลอม เจ้าอาวาสวัดน้อยนางหงส์ เป็นผู้รับมอบเก็บไว้รอส่งต่อให้กับรักษาการเจ้าอาวาสวัดใหญ่จอมปราสาท นำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายดูแลวัดต่อไป

ขณะที่ในการประชุมได้หารือในประเด็นการสร้างความร่วมมือระหว่างฝ่ายปกครองของจังหวัดสมุทรสาครกับ คณะสงฆ์ในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อก่อให้เกิดแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขสถานการณ์ข่าวสารที่มีผลกระทบต่อความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อพระพุทธศาสนา รวมถึงร่วมกันเป็นหูเป็นตาเพื่อสอดส่องสิ่งเร้าหรือสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ที่จะเข้ามาก่อให้ผลกระทบต่อคณะสงฆ์และศาสนาพุทธ
นอกจากนี้ ได้มีการชี้แจงแนวปฏิบัติการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร การเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารของวัด และแนวทางการจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย รายงานเงินคงเหลือของวัด หรือระบบบัญชีมาตรฐานของวัด รวมถึงแนวทางการดำเนินการกรณีพระภิกษุกระทำผิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติ (อาบัติหนัก ได้แก่ อาบัติปาราชิก คือ ฆ่าคน เสพเมถุน ลักทรัพย์ และอวดอุตริมนุสธรรม เมื่อละเมิดแล้วขาดจากความเป็นภิกษุทันที แม้กลับมาบวชใหม่ก็ไม่เป็นภิกษุ) และนโยบายของนายสุชาติ ตันเจริญ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ภายหลังจากการประชุมเสร็จสิ้นลงแล้ว เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงกรณีของอดีตพระมหาทิวากร ดีไพร อดีตเจ้าอาวาสวัดใหญ่จอมปราสาท ที่ได้ลาสิกขาไปแล้ว โดยเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า สำหรับประเด็นเส้นทางการการเงิน บัญชีรายรับรายจ่ายของวัดใหญ่จอมปราสาทนั้น ตนได้รับเอกสารมาจากทางอดีตพระมหาทิวากร จำนวน 1 ชุด
ซึ่งแบบบัญชีที่นำมาแสดงต่อผู้ปกครองคณะสงฆ์ จะไม่เหมือนกับบัญชีที่นำส่งสำนักงานพระพุทธศาสนา หากสื่อมวลชนสงสัยว่าบัญชีมีความโปร่งใสหรือไม่ ทางผู้ปกครองคณะสงฆ์ยินดีให้ดูเอกสารดังกล่าว แต่เรื่องของการตรวจสอบข้อเท็จจริงเส้นทางการเงินต่าง ๆ ว่าจะเกี่ยวโยงกับเงินวัดหรือไม่นั้น เมื่ออดีตพระมหาทิวากรได้สึกไปแล้ว ต้องเป็นการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะผิดหรือถูกต้องรอผลจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น
ส่วนประเด็นการแต่งตั้งไวยาวัจกรวัด ซึ่งเป็นผู้จัดการเรื่องต่าง ๆ ในวัดแทนเจ้าอาวาสวัดตามที่ได้รับมอบหมายนั้น ตามกฎหมายได้บัญญัติให้มีการตั้งไวยาวัจกรวัด แต่ไม่มีบทลงโทษกรณีที่ไม่ตั้งไวยาวัจกร ดังนั้น บางวัดจึงยังไม่มีการตั้งไวยาวัจกร หรือ บางวัดก็มีการตั้งไวยาวัจกรมากกว่า 1 คน ซึ่งปัญหาตรงนี้จากการประชุมก็ได้มีมติเห็นควรว่า หลังจากนี้จะให้ทุกวัดรายงานว่า มีใครเป็นไวยาวัจกรวัด และหากวัดใดยังไม่มีไวยาวัจกรก็จะให้ดำเนินการแต่งตั้งให้ถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนที่กำหนดไว้

ส่วนการตรวจสอบความประพฤติเจ้าอาวาสวัดและพระสงฆ์ในแต่ละวัด หลังจากที่เกิดกรณีที่เป็นข่าวในขณะนี้ ก็ได้มีการสั่งการให้เจ้าคณะตำบลทุกแห่ง ต้องดำเนินการตรวจสอบตามข้อสั่งการอย่างเข้มข้นและจริงจัง ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าคณะอำเภออีกชั้นหนึ่ง หากพบว่าไม่กระทำหรือปล่อยปละละเลย ก็จะต้องถูกดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับของสงฆ์ แต่กรณีของอดีตพระมหาทิวากรนั้น ก็เปรียบเหมือนไฟไหม้ที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า มารู้ก็เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว และการกระทำดังกล่าวเกิดมาหลายปีแล้วแต่เรื่องเพิ่งจะมาปรากฏ
ดังนั้นเรื่องนี้ จึงนับเป็นอุทาหรณ์ให้แก่คณะสงฆ์ในจังหวัดสมุทรสาครทุกวัด จะต้องประพฤติปฏิบัติตามวินัยสงฆ์อย่างเคร่งครัด ไม่ให้เป็นที่เสื่อมเสียของพระพุทธศาสนา แต่ถ้าในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นมาจริง ในเขตพื้นที่ไหน อำเภอใด ผู้ที่มีอำนาจในพื้นที่นั้น ๆ ทั้งเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับอำเภอและพื้นที่ชุมชน ก็ต้องร่วมกันลงตรวจสอบอย่างรวดเร็ว สร้างความกระจ่างชัดต่อสังคมและพุทธศาสนิกชน
ส่วนกรณีของวัดใหญ่จอมปราสาทภายหลังจากที่เจ้าอาวาสได้ลาสิกขาไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะตำบลที่จะต้องตั้งผู้ที่รักษาการขึ้นมาดูแลวัด และศาสนสถาน จากนั้นก็จะมีการพิจารณาแต่งตั้งเจ้าอาวาสรูปใหม่ขึ้นมาปกครองคณะสงฆ์และดำเนินพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาของวัดใหญ่จอมปราสาทต่อไป ด้านตรวจสอบความผิดของมหาทิวากร ก็ต้องเป็นงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าอดีตพระมหาทิวากร มีความผิดในเรื่องที่ปรากฏหรือไม่ รวมถึงเรื่องเอกสารของสำนักงานพระพุทธศาสนาหายไปนั้น ทุกอย่างเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องรอผลจากตำรวจเท่านั้น
เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวอีกว่า สำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างคณะสงฆ์กับฝ่ายปกครองของจังหวัดสมุทรสาคร เป็นการทำงานที่ชัดเจน คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กับ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร เป็นผู้อำนวยการที่รับมอบนโยบายจากกระทรวง ทบวง หรือกรมต่าง ๆ นำมามอบหมายให้แต่ละหน่วยงาน แต่ละพื้นที่ได้นำไปปฏิบัติ ส่วนนายอำเภอ และเจ้าคณะอำเภอ ก็มีหน้าที่รับมอบหมายงานและควบคุมดูแลในแต่ละอำเภอให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนเจ้าคณะตำบล จะเป็นเสมือนหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ และเจ้าอาวาสก็เป็นผู้ที่รับนโยบายแล้วนำไปดำเนินการควบคุมพระสงฆ์ภายในวัดของตนเองให้อยู่ในระเบียบวินัยอย่างสมบูรณ์

ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนบูรณการความร่วมมือระหว่างฝ่ายปกครองกับฝ่ายคณะสงฆ์ของจังหวัด เพื่อการทำงานด้านแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ข่าวสาร ที่มีผลกระทบต่อความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นการควบคุมดูแลคณะสงฆ์ของจังหวัดสมุทรสาครให้อยู่ในระเบียบวินัยตามข้อบัญญัติของมหาเถระสมาคมฯ อันจะนำไปสู่ความเลื่อมใสศรัทธาของพี่น้องประชาชนหรือพุทธศาสนิกชนในจังหวัดสมุทรสาคร
ซึ่งที่ผ่านมาในส่วนคณะสงฆ์ของจังหวัดสมุทรสาครก็มีการบังคับใช้ระเบียบกันอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว ฉะนั้นการประชุมที่จัดขึ้น จึงเสมือนการมาพูดคุยหารือแนวทางกันอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกันนี้ยังได้กำชับนายอำเภอทั้ง 3 อำเภอ และผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสาคร ว่าหากมีการกระทำใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาในพื้นที่ ก็ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบให้เร็วที่สุด เพื่อพิสูจน์ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว อย่าปกปิด หรือพยายามซ่อนเร้นสิ่งที่กระทำผิดต่าง ๆ
โดยทั้งภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่ปกครองบ้านเมือง กับคณะสงฆ์จะต้องร่วมมือกันอย่างเข้มข้นและจริงจัง พร้อมกันนี้ยังได้มีการชี้แจงถึงแนวทางการปฏิบัติตามมติมหาเถระสมาคม และการดำเนินงานตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายไว้ อาทิ การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกับผู้นำท้องถิ่น,ให้ทุกวัดต้องมี QR-CODE การบริจาคเงินให้แก่วัดทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation), ให้จัดทำข้อมูลวัดทั้งระบบ เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทะเบียนข้อมูลวัด บัญชีวัด ในระบบ Big Data และเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้, การพัฒนาไวยาวัจกร, การสร้างวัตถุมงคล ให้มีกรรมการอนุญาตจัดทำ, การตั้งกรรมการเพื่อการดูแลเรื่อง ทรัพย์สินของวัด และการประสานกับสภาวิชาชีพ เรื่อง บัญชีวัด เป็นต้น
ส่วนเรื่องเอกสารการเงินของวัดใหญ่จอมปราสาท ที่หายไปจากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสาครนั้น อยู่ในกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยทางพนักงานสอบสวนได้มีการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไปสอบปากคำ เก็บลายนิ้วมือ และรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะทราบผู้ที่นำเอกสารของราชการออกไปได้ในเร็ว ๆ นี้ ขอให้สื่อมวลชนติดตามข้อมูลและผลการตรวจสอบจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป
ทั้งนี้ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า หากสื่อมวลชนหรือประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร พบการกระทำที่มีผลกระทบต่อคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา ก็ขอให้แจ้งต่อเจ้าหน้าคณะตำบล หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในพื้นที่ทันที เพื่อเข้าตรวจสอบอย่างรวดเร็ว อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยกันปกป้องพระพุทธศาสนา ปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ อย่าได้ทำเฉย ใครทำผิดก็ต้องได้รับโทษของการกระทำความผิดนั้น ไม่ว่าจะเป็นสงฆ์หรือฆราวาส หากเข้ามาทำลายพระพุทธศาสนาก็จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายบ้านเมือง หรือตามระเบียบข้อบังคับของมหาเถระสมาคม
สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ