
“ผู้ว่าฯ วีระศักดิ์” แถลงสถานการณ์โควิด-19 สมุทรสาคร สั่งปิดสนามมวยอ้อมน้อยไม่มีกำหนด และสถานที่ตามมาตรการรัฐ 14 วัน เล็งเข้มยันตลาดนัด เคร่งสวมหน้ากากเข้าสถานที่ราชการ ผอ.รพ.สมุทรสาครเผย โรคไม่น่ากลัว กลัวระบาด แนะล้างมือสำคัญกว่าสวมหน้ากาก พบคนที่กักตัวในบ้านถูกกดดัน-ถูกไล่จนอยู่ไม่ได้
เมื่้อวันที่ 18 มี.ค. นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร แถลงข่าวชี้แจงเพิ่มเติม ถึงมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ออกมาตรการเพิ่มเติม ว่า ถือเป็นเรื่องใหม่ในการปฏิบัติงาน เรื่องนี้ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของมนุษยชาติ ทุกคนต้องช่วยกัน ในฐานะผู้ว่าฯ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ช่วยกันนำความรู้ความเข้าใจไปขยายออกสู่ชุมชนให้ได้รับทราบและถือปฏิบัติร่วมกัน
ปัจจุบัน สถานการณ์โรคโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 มีบุคคลเฝ้าระวังสะสม รวม 90 ราย เฝ้าระวังครบ 14 วันและไม่พบเชื้อ รวม 55 ราย ย้ายออกนอกจังหวัดกลับภูมิลำเนา รวม 12 ราย ส่วนผู้ที่อยู่ในระหว่างเฝ้าระวังแต่ไม่พบเชื้อ รวม 23 ราย ยืนยันว่ากระแสข่าวพบผู้ป่วยในจังหวัด ตามพื้นที่ตำบลต่างๆ ไม่เป็นความจริง ยังไม่มีผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาครแม้แต่รายเดียว มีอยู่ 1 ราย ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร แต่ติดเชื้อจากเวทีมวยลุมพินี โดยเป็นหนึ่งในผู้ติดเชื้อ 212 ราย และเข้ารับการรักษาที่กรุงเทพฯ
• “วันนี้ไม่พบ-พรุ่งนี้ไม่รู้” ออกมาตรการเสริมสร้างความมั่นใจ
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ในประเทศไทยพบว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ในฐานะที่ทางจังหวัดฯ ยังไม่พบเชื้อ ต้องพูดความจริงว่า วันนี้ยังไม่พบเชื้อ แต่พรุ่งนี้เรายังไม่รู้ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ขยายมาตรการที่ส่วนกลางกำหนดให้ และมาตรการเสริมในจังหวัดจะต้องปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งต้องเลือกระหว่างความเป็นอยู่ที่ฝืนความสะดวกสบาย กับสิ่งที่ได้รับตอบแทนกลับมาคือความมั่นใจและความปลอดภัยในชีวิต แม้จะกระทบกระเทือนกับการประกอบธุรกิจและเศรษฐกิจแต่จะพยายามทำให้ผลกระทบน้อยที่สุด
นายวีระศักดิ์ ยังกล่าวถึงมาตรการป้องกันเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากมาตรการตามมติ ครม. แล้ว จังหวัดสมุทรสาครได้มีมาตรการเพิ่มเติม เช่น การจัดตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาคร ที่พุทธมณฑลจังหวัดสมุทรสาคร อ.บ้านแพ้ว ซึ่งพบว่าทำไม่ได้เพราะชาวบ้านรังเกียจ แสดงให้เห็นว่ากระบวนการสร้างการเรียนรู้ยังไม่เกิด ต่อมาคือการแต่งตั้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีตนเป็นประธาน และยกระดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเชื้อโควิด-19 ให้เป็นปัญหาสำคัญของจังหวัด อีกทั้งเป็นจังหวัดแรกที่ทำหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันให้กับผู้ที่ไม่ป่วยนำไปใช้

• เล็งเข้มยัน “ตลาดนัด” ถกลดวัน-ลดแผง-เพิ่มความสะอาด
ปัจจุบันได้สั่งปิดเวทีมวยสยามอ้อมน้อยชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ส่วนสถานบันเทิง สถานที่บริการนวด ฟิตเนส สปา โรงมหรสพ สั่งปิดชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 18-31 มี.ค. 2563 นอกจากจะทำตามมาตรการเร่งด่วนจากส่วนกลางแล้ว ทางจังหวัดได้ดูไปถึงมาตรการที่สอดคล้องกับทางส่วนกลาง เช่น ออกมาตรการติดต่อส่วนราชการทั้งหมด ทุกคนต้องมีหน้ากาก และทุกสถานที่ราชการต้องมีเจลล้างมือ ส่วนภาคเอกชนจะดำเนินการอย่างไร ทางจังหวัดไม่อยากใช้มาตรการทางกฎหมายลงโทษ แต่จะปรึกษาทางภาคเอกชนอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนตลาดนัดจะยังไม่ถึงขั้นสั่งปิดชั่วคราว เพราะบางคนไม่สามารถไปห้างสรรพสินค้า หรือห้างค้าปลีกค้าส่งได้ แต่จะออกมาตรการ ได้แก่ หารือถึงความเป็นไปได้ ถึงการลดจำนวนครั้งของตลาดนัด เช่น จากเดือนละ 10 ครั้ง เหลือเดือนละ 8 ครั้ง จากสัปดาห์ละ 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง ต้องไม่มีการเบียดเสียดกัน ร้านค้าต้องไม่แออัดเกินไป เดิมเคยตั้ง 100 ร้าน เหลือ 70-80 ร้าน ความสะอาดของอุปกรณ์ ภาชนะ สถานที่ ทั้งก่อนและหลังเปิด ต้องเก็บกวาดให้เรียบร้อย เพราะที่ผ่านมาพบว่าบางแห่งสกปรก รวมทั้งผู้ค้าต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกคน โดยสัปดาห์หน้าจะเริ่มปฏิบัติจริง
• ตั้งกองทุนระดมซื้อเครื่องช่วยหายใจ 1 ตำบล 1 เครื่อง
ขณะเดียวกัน จังหวัดสมุทรสาครได้จัดตั้ง “กองทุนคนสมุทรสาครรวมใจสู้ภัยโควิด-19” โดยมีทุนประเดิม 58,000 บาท เพื่อสมทบทุนจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจ เป็นสมบัติของโรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 อย่างน้อยตำบลละ 1 เครื่อง รวมทั้งนำไปจัดหาหน้ากากอนามัยให้บุคลากรทางการแพทย์ และจะหารือกับเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร ขอความร่วมมืองดจัดงานวัด งดจัดงานสงกรานต์ งานสรงน้ำพระ ส่วนงานที่มีแตรวงหรือทอดผ้าป่า สามารถทำได้แต่ห้ามมีขบวนแห่ การให้ความรู้ความเข้าใจแก่พระสงฆ์ และช่วยพระสงฆ์ทำหน้ากากผ้าสีเดียวกับจีวร
นอกจากนี้ จังหวัดสมุทรสาครจะจัดบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ทำความสะอาดสถานที่ทุกแห่งทั้งจังหวัด “บิ๊กคลีนนิ่งเดย์ คนสาครรวมใจต้านภัยโควิด-19” พร้อมกันทั้งจังหวัด ทุกสถานที่ทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน เพื่อให้ทุกคนตระหนักปัญหานี้ร่วมกัน ในวันที่ 10 เม.ย. 2563 ตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น. แต่ก่อนหน้านั้นจะทำความสะอาดเป็นกลุ่มย่อย รวมทั้งให้ความรู้โดยนายอำเภอและท้องถิ่นจังหวัด ได้กระจายข่าวและจัดอบรมเป็นระยะ โดยจะแจ้งในที่ประชุมผู้บริหารท้องถิ่นในวันที่ 27 มี.ค. 2563

• ยุติ “ศูนย์วันสตอปเซอร์วิส” ให้ต่างด้าวทำที่หน่วยตนเอง
นายวีระศักดิ์ กล่าวถึงปัญหาการกักตุนสินค้าว่า พาณิชย์จังหวัดได้ออกไปสำรวจและรายงานสถานการณ์เป็นระยะทุกวัน ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา ยังอยู่ในภาวะที่สามารถรับมือได้ ส่วนการรับมือกับข่าวปลอม หรือเฟกนิวส์นั้น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดได้เปิดเฟซบุ๊กเพจที่ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดโดยเฉพาะ สามารถตอบคำถามได้ ที่ผ่านมายอมรับว่ามีปัญหาอุปสรรคบ้าง เหมือนเรื่องการดูแลตนเอง มีปัญหาในบางส่วน บางพื้นที่ไม่ยอมรับ ซึ่งจะส่งผลต่อสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต
นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service หรือ OSS) ต่อใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ จังหวัดสมุทรสาคร ได้ข้อสรุปว่าให้แต่ละหน่วย อาทิ จัดหางานจังหวัด ตรวจคนเข้าเมือง แรงงานจังหวัด และฝ่ายปกครองจะยุติการทำงานที่ศูนย์ OSS ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. เป็นต้นไป โดยให้แรงงานที่จำเป็นในการต่อวีซ่าและการทำใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) กลับไปทำที่หน่วยของตนเอง ไม่มีการรวมตัวกันจำนวนมาก
• ผอ.รพ.สมุทรสาคร แจง “โรคอุบัติใหม่” สักระยะมีภูมิคุ้มกัน
นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ซึ่งโดยธรรมชาติของโรคระบาดคือ ผ่านไปสักระยะหนึ่งจะเริ่มมีภูมิคุ้มกัน หลังจากนั้นก็จะอยู่กับเราไปตลอด แต่จะเป็นเหมือนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เพราะฉะนั้นการประกาศโควิด-19 เฟส 3 ก็จะเป็นไปตามธรรมชาติ แต่จากมาตรการของรัฐบาล จะประกาศแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การออกแบบเช่นนั้นเพราะหากรีบประกาศให้เป็นเฟส 3 แล้วจบ จะเกิดคนไข้มหาศาล โรงพยาบาลรับไม่ไหวและจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
การติดเชื้อแบบกลุ่มในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา มีผลต่อการตัดสินใจระดับประเทศ เช่น ปิดผับ ปิดสนามมวย สถานที่แออัดเพื่อชะลอไว้ก่อน ส่วนมาตรการที่แรงและป้องกันก่อนที่จะเกิดคือ ยกเลิกวันหยุดสงกรานต์ 13-15 เม.ย. 2563 เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อ 212 คนล้วนแล้วแต่อยู่ในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดมีน้อยมาก หากให้เดินทางช่วงดังกล่าวคือการกระจายเชื้อไปต่างจังหวัดแน่นอน มาตรการของรัฐบาลจึงตอบโจทย์การกำจัดวงรอบให้เป็นเฟส 3 แบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ระบบสาธารณสุขรับมือทั้งแพทย์ พยาบาลและเครื่องมือ อัตราการเสียชีวิตจะไม่สูง

• “ล้างมือ” สำคัญกว่า “สวมหน้ากาก” มือตัวพาเชื้อโรคเข้าร่างกาย
ขณะที่มาตรการส่วนตัว เนื่องจากเคสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การกักตัวในสถานที่เพื่อติดตามอาการ (Local Quarantine) ในอนาคตอาจจะไม่เพียงพอ คำตอบสุดท้ายคือ การกักตัวในบ้านเพื่อสังเกตอาการ (Home Quarantine) การที่มีมีคนต่อต้านเพราะกังวลกับข่าวปลอม ข่าวที่ออกมาจนน่ากลัว หลายคนเชื่อว่าเป็นโควิด-19 โอกาสรอดจะน้อย ดาราหลายคนรู้สึกแย่ ทั้งที่อัตราการเสียชีวิตในประเทศไทยน้อยมาก คือ 0.3% ขณะที่ต่างประเทศประมาณ 2% น้อยกว่าหลายโรคมาก คนที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ แต่เป็นหวัด เจ็บคอ ประมาณ 90% ก็หายขาด
แต่ความน่ากลัวอยู่ที่การระบาด ถ้าควบคุมไม่ได้ก็จะติดเชื้อกันเร็ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องการก็คือ ให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน สำคัญที่สุดก็คือการล้างมือ สำคัญกว่าการใส่หน้ากาก ซึ่งมีความเสี่ยงจากการที่ใส่ไม่ถนัด แล้วเอามือไปจับ เชื้ออยู่ที่มือ เพราะฉะนั้นมือจะเป็นตัวพาเชื้อโรคเข้าร่างกาย หน้ากากจะเป็นจุดด้อยถ้าใส่โดยไม่ระวัง ที่แตกตื่นไปซื้อจนขาดตลาดเป็นเพียงกระแส ความจริงหน้ากากอนามัยเหมาะสำหรับคนไข้ที่เป็นหวัด เพราะลดการกระจายของน้ำลาย และบุคลากรทางการแพทย์ สิ่งที่ภาครัฐพยายามจะบอกก็คือ หน้ากากใช้เฉพาะที่จำเป็น
• “คนกักตัวอยู่ไม่ได้” ถูกกดดัน-ถูกไล่ ต้องสร้างความเข้าใจชุมชน
ส่วนกลุ่มที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยง ปัจจุบันได้แบ่งระดับ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มาจากพื้นที่ระบาดหนัก และกลุ่มที่มาจากพื้นที่เสี่ยงมีไข้ เจ็บคอร่วมด้วย เรียกว่ากลุ่ม PUI (กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องดำเนินการสอบสวนโรค หรือ Patients under investigated) จะต้องตรวจและรอผลว่าเป็นลบหรือไม่ สุดท้ายคือกลุ่มที่เป็นโรคแล้ว ซึ่งกลุ่มผีน้อยคือกลุ่มเสี่ยงกว่าเรานิดเดียว คือ ไม่แสดงอาการใดๆ มาตรการที่ออกมาเป็น Home Quarantine เพราะอาการไม่ได้เป็นอันตรายมากนัก ถ้าทุกคนรู้จักป้องกันตนเองว่า อยู่ในระยะไม่เกิน 1 เมตร ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ก็เพียงพอ
แต่มาตรการที่รัฐบาลให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ซึ่งหลายประเทศไม่มี เราส่งคนไปติดตาม วัดไข้ทุกวัน มีบันทึกรายงาน และรัฐบาลได้สร้างแอปพลิเคชันว่าอยู่ที่ไหน นอกนอกพื้นที่หรือไม่ แต่มีอยู่อย่างเดียว คือ คนอยู๋ไม่ได้ เท่าที่สัมภาษณ์คนที่กักตัวเองอยู่กับบ้าน บอกว่าถูกกดดัน ถูกไล่ ไม่ได้รับการยอมรับเนื่องจากไม่เข้าใจ ต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือการสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน เพื่อให้หลังการกักตัวกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ
• ออกประกาศเคร่งครัดห้างฯ-สถานที่ราชการมีมาตรการลดความเสี่ยง
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า นายวีระศักดิ์ ออกประกาศจังหวัดสมุทรสาคร เรื่อง การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สาระสำคัญคือ 1. ให้บุคลากรภาครัฐ ปฏิบัติคำแนะนำของกรมอนามัย (หลักการ 3 ล. ลด-เสี่ยง-ดูแล) 2. กิจกรรมที่บุคลากรภาครัฐต้องเข้าร่วม เช่น การประชุม อบรม สัมมนา งานบุญประเพณี กิจกรรมชุมชน การซื้อของในตลาด ห้างสรรพสินค้า ต้องเคร่งครัดสวมหน้ากากอนามัย ผู้ที่ไม่ป่วยให้ใช้หน้ากากผ้า 3. ให้สถานที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจ มีมาตรการลดความเสี่ยง เช่น มีจุดคัดกรอง มีเจลแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดพื้นผิว ห้องสุขา จำกัดจำนวนคนใช้บริการ เป็นต้น


สาครออนไลน์ โดย กิตตินันท์ นาคทอง