“เทศบาลนครสมุทรสาคร-มจธ.” เปิดเวทีรับฟังความเห็น ปชช. ก่อสร้างสะพานวัดเจษฯ

เทศบาลนครสมุทรสาคร ร่วมกับ มจธ. จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาชัย นำเสนอ 3 รูปแบบทางเลือกให้พิจารณา

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 ธ.ค. ที่ห้องธนภาคิน โรงแรมเซ็นทรัลเพลส จ.สมุทรสาคร นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาชัย โดยมี นายชิงชัย บุญประคอง ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร, ดร.นครินทร์ สัทธรรมนุวงศ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ. ผู้จัดการโครงการ, นายบรรพต เจริญสัตยธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา รวมถึงผู้แทนส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่เข้าร่วมการสัมมนา

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันบริเวณสะพานข้ามคลองมหาชัย และบริเวณถนนพื้นที่ต่อเนื่อง ได้แก่ ถนนสหกรณ์ ถนนเดิมบาง ถนนเจษฎาวิถี และถนนที่มาจากจังหวัดสมุทรปราการ-สมุทรสาคร ประสบปัญหาการจราจรติดขัด เพราะถนนบริเวณนี้มีจุดข้ามเพียงจุดเดียวคือสะพานข้ามคลองมหาชัย เนื่องจากในปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากใช้ถนนบริเวณสะพานข้ามคลองมหาชัยสัญจร จึงทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในบริเวณดังกล่าว ดังจะเห็นได้ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ประกอบกับสะพานข้ามคลองมหาชัย ก่อสร้างและเปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2511 ถึงแม้ว่าจะมีการบำรุงรักษาโครงสร้างสะพานมาโดยตลอด แต่จากการตรวจสอบโครงสร้างของสะพานในปัจจุบันพบว่าโครงสร้างบางจุดชำรุด และควรได้รับการปรับปรุงช่อมแซมเพื่อให้ประชาชนใช้สัญจรได้อย่างปลอดภัย

ดังนั้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมในเขตเมืองให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัด และแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณสะพานข้ามคลองมหาชัยและเพื่อรองรับสภาวะความเจริญทางเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปในอนาคตของจังหวัดสมุทรสาคร จึงได้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 1 เพื่อจะพิจารณาในประเด็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับ 1. ความเป็นไปได้ เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาชัยเพื่อเชื่อมต่อถนนสาย จ1 ตามผังเมืองสมุทรสาคร และ 2. แนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณสะพานข้ามคลองมหาชัยและพื้นที่ต่อเนื่องในพื้นที่เทศบาลนครสมุทรสาคร ซึ่งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ จะเป็นประโยชน์ต่อจังหวัดสมุทรสาครให้รองรับสภาวะความเจริญทางเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปในอนาคตของจังหวัดสมุทรสาคร และสอดรับกับความต้องการของทุกภาคส่วน

ดร.นครินทร์ เปิดเผยว่า สำหรับการสัมมนาในวันนี้ จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นจากผู้แทนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงนภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนผู้ที่เกี่ยวข้อง ผลของการสัมมนาจะนำมาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาชัยเพื่อเชื่อมต่อถนนสาย จ1 ตามผังเมืองสมุทรสาครและเพิ่มขีดความสามารถของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมในเขตเมือง ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัด เพื่อรองรับสภาวะความเจริญทางเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปในอนาคตของจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงสอดรับกับความต้องการของทุกภาคส่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาชัย หรือ “สะพานวัดเจษฯ” ของเทศบาลนครสมุทรสาคร และ มจธ. ได้ศึกษาแนวเส้นทางโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาชัยและโครงการก่อสร้างถนนสาย จ1 ตามผังเมืองรวมเมืองสมุทรสาคร แบ่งออกเป็น 1. การปรับปรุงซ่อมแซมสะพานข้ามคลองมหาชัย, 2. การก่อสร้างสะพานใหม่ระยะที่ 1 (กม. 0+450 ถึง กม.1+175) การก่อสร้างสะพานบริเวณทางหลวงหมายเลข 3423 (ถนนสายสหกรณ์) เพื่อข้ามแยกถนนเจษฏาวิถี แยกถนนเดิมบาง และข้ามทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อกับถนนเอกชัย และระยะที่ 2 สร้างส่วนต่อขยายจากการก่อสร้างระยะที่ 1 เพื่อเชื่อมกับถนน จ1 และต่อไปยังถนนพระราม 2

ซึ่งการศึกษาทางเลือกและรูปแบบ ได้กำหนดจุดต้นทางของโครงการบริเวณทางหลวงหมายเลข 3423 กม.0+000 (0+700 ทล.3432) และจุดปลายทางอยู่ที่บริวณทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3242 (ถนนเอกชัย) และพื้นที่ข้างเคียง โดยสามารถจัดรูปแบบทางเลือกได้ 3 รูปแบบ คือ

รูปแบบทางเลือกที่ 1 จะมีแนวคิดใช้พื้นที่ภายในเขตทางเดิมเท่านั้นโดยไม่เวนคืน ดังนั้นสามารถก่อสร้างทางยกระดับได้กว้างเพียง 10-12 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ไหล่ทางกว้าง 1.5-2.5 เมตร เนื่องจากเขตทางบริเวณสะพานและช่วงสามแยกจุดตัดถนนเอกชัยค่อนข้างแคบเพียง 25 เมตร และก่อสร้างในแนวสะพานเดิมบริเวณตรงกลางโดยมีตอม่อกว้างไม่เกิน 2.5 เมตร สะพานเดิมจะคงช่องจราจรได้ 4 ช่องจราจรไป-กลับ แต่ช่องจราจรแคบลง ไม่มีไหล่ทาง มีทางเท้าเช่นเดิม และจะมีสะพานทางลง บริเวณปลายทางจุดตัดถนนเอกชัย ขนาดกว้าง 5 เมตร เพียง 1 ช่องจราจรเท่านั้น รูปแบบนี้จะตอบสนองโครงข่ายการสัญจรสองฝั่งคลองและการจราจรที่ไม่ติดสัญญาณไฟจราจร และไม้กั้นทางรถไฟ รวมทั้งโครงข่ายถนนสาย จ1 ในขตผังเมืองอนาคตได้ดี

รูปแบบทางเลือกที่ 2 จะมีแนวคิดใช้พื้นที่ภายในเขตทางเดิมและการเวนคืนที่ดินนอกเขตทางเพิ่มเติมสำหรับโครงข่ายอนาคตเท่านั้น ดังนั้นจะมีการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ เป็นทางขึ้น-ลงกว้าง 8 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจรไปกลับ ไม่มีไหล่ทางไม่มีคอนกรีตแยกทิศทางการจราจร ซึ่งสะพานนี้จะข้ามถนนเจษฎาวิถีและเดิมบาง รวมทั้งทางรถไฟ และส่วนที่ต้องต่อเชื่อมกับโครงข่ายอนาคต สาย จ1 จะทำการเวนคืนด้านซ้ายทางนอกเขตทางเดิมเพิ่มเติมโดยไม่กระทบกับสะพานข้ามคลองเดิมและสะพานข้ามทางรถไฟตัวใหม่

ส่วนบริเวณสะพานข้ามคลองเดิมจะทำการแก้ไขซ่อมแซมหรือรื้อออกก่อสร้างสะพานใหม่ตามแนวเดิมกว้างข้างละ 10 เมตรทั้งสองข้าง การสัญจรทั้งสองฝั่งคลองต้องใช้โครงข่ายถนนในเมือง และการกลับรถ รูปแบบนี้จะตอบสนองโครงข่ายการสัญจรที่ไม่ติดสัญญาณไฟจราจร และไม้กั้นทางรถไฟ รวมทั้งโครงข่ายบถนนสาย จ1 ในเขตผังเมืองอนาคตได้ดีเช่นเดียวกัน แต่ถนนเดิมบางและเจษฎาวิถียังคงต้องใช้ระดับดิน ยังคงติดสัญญาณไฟจราจรและทางรถไฟ อาจจะไม่สะดวกเนื่องจากไม่สามารถใช้สะพานข้ามทางรถไฟได้

รูปแบบทางเลือกที่ 3 จะมีแนวคิดใช้พื้นที่ภายในเขตทางเดิมและการเวนคืนที่ดินนอกเขตทางเพิ่มเติมสำหรับโครงข่ายอนาคตเท่านั้นเช่นเดียวกับทางเลือกที่ 2 บริเวณสะพานข้ามคลองเดิมจะทำการแก้ไขซ่อมแชมและคงช่องจราจร ไหล่ทางและทางเท้าได้ดังเดิมทั้งหมด ส่วนสะพานข้ามทางรถไฟ กว้าง 8 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจรไปกลับ ไม่มีไหล่ทาง ไม่มีคอนกรีตแยกทิศทางการจราจร จะมีการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ คร่อมสะพานข้ามคลองเดิม เป็นทางขึ้น-ลง ก่อนถึงทางแยกเอกชัย ส่วนการสัญจรทั้งสองฝั่งคลองต้องใช้โครงข่ายถนนในเมือง และการกลับรถ รูปแบบนี้จะตอบสนองโครงข่ายการสัญจรที่ไม่ติดสัญญาณไฟจราจร และไม้กั้นทางรถไฟ รวมทั้งโครงข่ายถนนสาย จ1 ในเขตผังเมืองอนาคตได้ดีเช่นเดียวกัน แต่ถนนเดิมบางและเจษฎาวิถียังคงต้องใช้ระดับดิน ยังคงติดสัญญาณไฟจราจรและทางรถไฟอาจจะไม่สะดวก

ทั้งนี้ การคัดเลือกแนวเส้นทางและรูปแบบที่เหมาะสม จะพิจารณาจากหลักเกณฑ์การคัดเลือก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านวิศวกรรมจราจร ได้แก่ เรขาคณิตทางราบและทางดิ่ง, ความยากง่ายในการก่อสร้าง, การจัดการจราจรในระหว่างก่อสร้าง และระดับการให้บริการของแต่ละรูปแบบ ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ได้แก่ ค่าก่อสร้าง และค่าเวนคืนที่ดินและชดเชยอสังหาริมทรัพย์ และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อากาศ เสียง สั่นสะเทือน, การคมนาคม อุบัติเหตุและความปลอดภัย, การโยกย้ายและเวนคืน และสุทรียภาพและความสวยงาม โดยทางเลือกและรูปแบบการพัฒนาที่มีผลคะแนนรวมมากที่สุด จะนำไปศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้น ในลำดับขั้นต่อไป

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *