โควิด-19 สมุทรสาครติดเชื้อเพิ่ม 3 รายแต่ไม่แสดงอาการ “อนุทิน” ทุบโต๊ะปิดเคสใน 1 สัปดาห์

กรมควบคุมโรคแจงสถานการณ์โควิด-19 สมุทรสาคร พี่สาวคนโต แม่ผู้ป่วยติดเตียง และน้องสะใภ้พบเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ นอกนั้นไม่พบแต่กักตัว รอผลตรวจลูกชายและคนงานเพิ่ม รมว.สาธารณสุขทุบโต๊ะ ปิดเคสให้ได้ภายใน 1 สัปดาห์ ขณะที่ รมว.แรงงานเข้มงวดพวกแรงงานผิดกฎหมาย ไม่มีบัตรจับทันที

จากกรณีที่จังหวัดสมุทรสาครพบผู้ป่วยรายใหม่ เป็นหญิงไทย อายุ 67 ปี เป็นเจ้าของแพปลาในตลาดกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร เริ่มป่วยวันที่ 13 ธ.ค. 2563 ด้วยอาการปวดเมื่อย จมูกไม่ได้กลิ่น เวลา 18.00 น. มารักษาที่แผนกผู้ป่วยโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แพทย์เก็บตัวส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยกลับไปรอผลที่บ้าน และเวลา 22.00 น. ผลตรวจพบเชื้อ ติดตามผู้ป่วยมาแยกกักที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร กระทั่งเวลา 08.00 น. วันที่ 17 ธ.ค. ส่งตรวจยืนยันอีกครั้งที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม ผลพบเชื้อ ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

วันนี้ (18 ธ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลสอบสวนโรคเบื้องต้น จากการตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 7 ราย พบผู้ติดเชื้อ 3 ราย แต่ไม่มีอาการ ประกอบด้วย พี่สาวคนโต เพศหญิง อายุ 73 ปี, มารดา (ผู้ป่วยติดเตียง) อายุ 95 ปี และน้องสะใภ้ เพศหญิง อายุ 57 ปี ส่วนลูกชาย อายุ 31 ปี และเพื่อนลูกชาย เพศหญิง อายุ 25 ปี ผลตรวจไม่พบเชื้อแต่กักตัวที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ขณะที่อีก 2 ราย คือ น้องชาย อายุ 57 ปี และแม่บ้าน เพศหญิง อายุ 56 ปี ตรวจไม่พบเชื้อแต่กักตัว นอกจากนี้ ยังติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีก 3 ราย คือ ลูกชาย และคนงานเมียนมาอีก 2 ราย ซึ่งน่าจะรู้ผลตรวจในวันนี้

โดยขณะนี้สามารถเก็บตัวอย่างตรวจแล้ว 165 ราย แยกเป็น ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 26 ราย ได้แก่ สมาชิกในครอบครัว 7 ราย คนที่ทำงานด้วยกัน 3 ราย บุคลากรทางแพทย์ 8 ราย แรงงานในตลาดกุ้ง 8 ราย ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำอีก 139 ราย เป็นแรงงานไทย 14 ราย และแรงงานเมียนมา 125 ราย ซึ่งเป็นมาตรการค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมโดยตีวงในพื้นที่ใกล้เคียง หลังจากนั้นจะมีมาตรการเฝ้าระวังไปยังสถานพยาบาล ร้ายขายยา และคลีนิก กรณีผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเพื่อตรวจหาเชื้อเพิ่มเติม และการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับมาตรการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล

นอกจากนี้ ได้เพิ่มมาตรการป้องกัน เช่น มาตรการรักษาระยะห่าง การทำความสะอาดสถานที่ การจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการเพื่อลดความแออัด การสแกนแอพลิเคชั่นไทยชนะ และมาตรการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล สำหรับกรณีที่มีผู้สงสัยเรื่องการติดเชื้อในอาหารทะเลนั้น ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า ในเบื้องต้นแนะนำให้กินอาหารสุกร้อน แต่กรณีดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารทะเลที่ติดเชื้อโควิด-19 เหมือนในต่างประเทศที่มีการระบาดรุนแรง

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีที่จังหวัดสมุทรสาครขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนหาสาเหตุการติดเชื้อครั้งนี้ว่ามาจากไทยอย่างไร ซึ่งหากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเชื่อว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ได้มีมากนับหมื่นรายตามที่มีข่าวลือ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า เรื่องดังกล่าวให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ขเป็นคนพูด โดยได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคไปติดตามเรื่องนี้แล้ว

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งขยายผล ขีดวงผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กลาง และต่ำ แต่อาจจะต้องมีการตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก อาจถึง 10,000 คน ซึ่งมีข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า ผู้ป่วยหญิงรายนี้ไปสัมผัสกับแรงงานต่างด้าวที่ทำประมงอยู่ที่นั่น เนื่องจากเป็นเจ้าของแพปลา เจ้าหน้าที่กำลังเร่งสอบสวนโรคเพื่อหาสาเหตุที่มา และมั่นใจว่าสามารถควบคุมได้ และได้กำชับไปยังอธิบดีกรมควบคุมโรคแล้วว่า กรณีจังหวัดสมุทรสาคร ขอให้ปิดเคสได้ภายในไม่เกิน 1 สัปดาห์ ประชาชนจะได้ไม่กังวลในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยภายใน 1-2 วันนี้ นายอนุทิน จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบสถานการณ์ด้วยตัวเอง

ส่วนนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า สำหรับมาตรการควบคุมแรงงานต่างด้าวหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังทำการสอบสวนโรคอยู่ว่าติดจากใครตรงไหนอย่างไร ส่วนแรงงานตนได้เน้นย้ำมาตลอดตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ในการตรวจสอบแรงงานที่ลักลอบ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด แต่ภูมิประเทศของไทยมีหลายร้อยกิโลเมตรที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งฝ่ายความมั่นคงได้ดูแลเต็มที่ และกระทรวงแรงงานก็คอยให้การสนับสนุน โดยการตรวจสถานประกอบการแรงงานต่างด้าว ซึ่งได้ให้ความรู้ผู้ประกอบการไปแล้วว่า การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยไม่มีบัตร สุ่มเสี่ยงถูกจับดำเนินคดี และเสี่ยงเรื่องโรคระบาดต่างๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้กระทรวงแรงงานทำอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุดังกล่าว มีหน่วยงานของกระทรวงแรงงานเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุแล้ว และที่ผ่านมาก็ได้ตรวจจับกุมไปหลายเคส โดยย้ำว่า กระทรวงแรงงานยึดตามนโยบายนายกฯ ในการป้องกัน ให้ความร่วมมือบูรณาการแนวชายแดน และการเข้าตรวจสถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าว ซึ่งพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวมากที่สุด ได้แก่จังหวัดสมุทรสาคร ส่วนจังหวัดอื่นๆ ตามแนวชายแดน เช่น จันทบุรี และอื่นๆ ยังไม่มีการแพร่ระบาด แต่ที่น่ากลัวคือ ฝั่งที่ติดกับประเทศเมียนมาที่มีการระบาดเยอะ ต้องให้ความสำคัญเข้าตรวจสถานประกอบการที่มีแรงงานพม่าจำนวนมากมาตลอด หากไม่มีบัตรจับดำเนินคดีทันที

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *