
ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร สั่งปรับแผนตรวจหาโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน จากวิธีหาเชื้อในสารคัดหลั่ง (Swab) เป็น Rapid Test รู้ผลตรวจรวดเร็วใน 30 นาที ครอบคลุมคนหมู่มาก จ่อตั้ง รพ.สนาม 480 เตียง รองรับผู้ป่วยนอกตลาดกลางกุ้งฯ
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 24 ธ.ค. นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จังหวัดสมุทรสาคร ว่า จากข้อมูลเมื่อเวลา 12.30 น. ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มเป้าหมายด้วยวิธีการตรวจหาเชื้อในสารคัดหลั่งจากโพรงจมูก (Swab) ไปแล้วจำนวน 12,962 คน นำเข้าสู่การตรวจหาเชื้อในห้องแล็บแล้ว จำนวน 6,787 คน คิดเป็น 52.36 เปอร์เซ็นต์ ทราบผลตรวจที่เป็นผู้ติดเชื้อแล้ว จำนวน 1,273 คน คิดเป็น 18.75 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนไทย 56 คน (4.39 เปอร์เซ็นต์) และแรงงานเมียนมา 1,217 คน (95.60 เปอร์เซ็นต์) ยังคงรอผลตรวจอีก จำนวน 6,175 คน คิดเป็น 47.63 เปอร์เซ็นต์
มียอดผู้ติดเชื้อรวม จำนวน 1,300 คน เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ 40 คน ภาพรวมสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อดีขึ้นจากเดิม 22.37 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเหลือ 18.75 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ตัวเลขนี้ก็ยังยืนยันไม่ได้ชัดเจนมากนักว่า สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาครจะควบคุมได้แล้ว เพราะยังเหลือที่ยังไม่ทราบผล และผู้ที่ไม่ได้รับการตรวจหาเชื้ออีกจำนวนมาก แต่ก็เป็นตัวบ่งบอกได้ว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว โดยเป็นผลมากจากการทำงานที่เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย

ดังนั้นทางจังหวัดสมุทรสาคร จึงมีการปรับแผนเพื่อให้การตรวจหาเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทราบผลตรวจเร็วและคลอบคลุมกลุ่มคนได้มากขึ้น ทั้งคนไทยกลุ่มเสี่ยงและคนต่างด้าว โดยจะเปลี่ยนจากวิธีการตรวจหาเชื้อในสารคัดหลั่งจากโพรงจมูก (Swab) มาเป็นการตรวจด้วยวิธี Rapid Test หรือการตรวจหาเชื้อจากการเจาะเลือดแทน ซึ่งจะทำให้ทราบผลภายใน 30 นาที หากใครไม่พบเชื้อก็ไม่ต้องตรวจซ้ำอีก
โดยรถที่ตรวจนั้นก็จะยังคงเป็นรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน จำนวน 6 คัน และรถเก็บตัวอย่างที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกันนี้ยังจะได้ปรับแผนการตรวจเพิ่มขึ้น คือ การลงพื้นที่แต่ละครั้งแต่ละจุดนั้น จะจัดให้มีการแยกรถตรวจสำหรับคนไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงออกจากคนต่างด้าว เพื่อให้ได้ตรวจพร้อมกันอีกด้วย ซึ่งก็จะทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันกับการควบคุมโรคระบาด

ส่วนเรื่องโรงพยาบาลสนามนั้น ขณะนี้ทางจังหวัดสมุทรสาคร และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโรงพยาบาลสนามแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้แล้ว 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลสนาม ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร โดยให้บริการได้วันละประมาณ 60 – 70 คน มีเตียงรองรับผู้ป่วยได้ 30 เตียง แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยหนักก็จะส่งต่อมาที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร โดยหลังจากที่เริ่มให้บริการแล้วนั้น ก็พบว่ามีผู้ป่วยมาเข้ารับบริการกันอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีอาการรุนแรงใด ๆ ทั้งสิ้น
และเพื่อเป็นการควบคุมการเกิดโรคโควิด-19 ซ้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จากกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในตลาดกลางกุ้งนั้น ก็ต้องเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยเห็นว่าน่าจะมีแนวทางในการดำเนินการ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับแรงงานต่างด้าวที่มีการรวมตัวกันอยู่อย่างหนาแน่นในตลาดกลางกุ้งประมาณ 1,250 ครอบครัว หรือจำนวนประชากรประมาณ 2,800 คน ให้คนเหล่านี้มีภูมิคุ้มกันโควิด-19 อย่างครอบคลุม จะได้ไม่เป็นโรคนี้และไม่เป็นผู้แพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นได้อีก

ส่วนทางด้านของโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่จำนวน 100 เตียง ตามแผนที่ทางจังหวัดได้จัดเตรียมไว้นั้น ปรากฎว่าพบปัญหาบางประการเกิดขึ้น ซึ่งอยู่ในระหว่างการเจรจากกับบุคคลในพื้นที่ หากการเจรจาเป็นไปได้ด้วยดี ก็จะสามารถดำเนินการนำเตียงสนามที่ได้มาจากทางทหารจำนวนรวมทั้งหมด 480 เตียง (ส่งมาวันที่ 24 ธ.ค. 230 เตียง และจะจัดส่งวันที่ 25 ธ.ค. อีก 250 เตียง) เข้าเตรียมความพร้อมได้ทันที โดยโรงพยาบาลสนามนี้มีความสำคัญ คือ ถ้าโรงพยาบาลสนามภายในตลาดกุ้ง ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ปิด ก็จะให้บริการเฉพาะผู้ที่อยู่ในตลาดกลางกุ้งเท่านั้น แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลสนามภายนอก ก็เป็นการจัดเตรียมเพื่อให้บริการแก่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ตรวจพบภายนอกตลาดกลางกุ้ง ส่วนโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่แล้วคือ โรงพยาบาลนครท่าฉลอมนั้น จะใช้เพื่อดูแลรักษาผู้ติดเชื้อคนไทยเท่านั้น และเมื่อใครที่อาการติดเชื้อหายไปหมดแล้ว ก็จะมีการส่งตัวกลับไปกักอยู่ที่บ้านเพื่อเฝ้าดูอาการ 14 วัน และรอผลยืนยันว่าหายสนิทไม่พบเชื้ออีกต่อไป
สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ