เดินหน้า “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร” ให้ได้กว่า 3 พันเตียงรับผู้ป่วยโควิด เปิดเพิ่มวัดช่องลม วัฒนาแฟคตอรี่ 2 จะตามมา

คืบหน้าศูนย์ห่วงใยคนสาคร รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการ เปิดแล้วที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดช่องลม รองรับได้ 230 เตียง ขณะที่วัฒนาแฟคตอรี่ 2 เตรียมเปิด 29 ม.ค. รองรับสูงสุด 1,000 คน ส่วนที่ท่าทรายกำลังเตรียมการ

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ทำพิธีเปิดศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 5 ศูนย์ปฏิบัติธรรม วัดสุทธิวาตรวราราม (วัดช่องลม) ต.ท่าฉลอม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยมีพระเทพสาครมุนี เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร ทำการเจิมป้ายศูนย์ห่วงใยคนสาคร และพรมน้ำมนต์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ตลอดจนนายชิงชัย บุญประคอง ปลัดเทศบาลนครสมุทรสาคร ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร ผู้บริหารเทศบาลนครสมุทรสาคร ภาคเอกชน อสม. ภาคประชาชน และผู้เข้าร่วมพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคลในการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จ ราบรื่นผ่านไปได้ด้วยดี มีความพร้อมนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้ามาเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ ดูแลรักษาได้แล้ว 100%

สำหรับศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 5 เป็นอาคาร 2 ชั้น จำนวน 2 อาคาร แบ่งเป็นอาคารผู้ติดเชื้อชายและหญิง มีห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ แบ่งชาย-หญิง รวม 40 ห้อง สามารถรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการแต่เข้ารักษาตัวเพื่อสังเกตอาการได้ถึง 230 เตียง โดยมีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์จากโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ประจำอยู่ที่ศูนย์แห่งนี้ มีการแบ่งเป็นจุดบริการทางการแพทย์ต่างๆ เป็นขั้นตอน ได้แก่ จุดลงทะเบียนรับป้ายชื่อ ติดสายรัดข้อมือ ใส่ป้ายเลขคล้องคอ, จุดวัดความดัน, เช็คประวัติสอบถามอาการ, จุดวัดอุณหภูมิ, จุดเอกซเรย์ จุดรับยา นอกจากนี้ ยังมีการจัดโซนรับประทานอาหาร, จุดรับอาหารที่แบ่งแยกส่วนกันอย่างชัดเจน จุดทิ้งขยะซึ่งเป็นขยะติดเชื้อถังสีแดง ข้างถังขยะยังมีสัญลักษณ์ขยะมูลฝอยติดเชื้อ เห็นได้อย่างชัดเจน มีการคัดแยกขยะ ได้แก่ ถังขยะทิ้งกล่องโฟม เศษอาหาร ขวดน้ำ และขยะอันตรายอีกด้วย

นอกจากนี้ บริษัท ดี-แลนด์ กรุ๊ป จำกัด โดย มูลนิธิคนดี ดี-แลนด์ ร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ บริษัท เฮเฟเล่ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อาควา บิชิฮาร่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท สมาร์ท ไอคอน เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด, บริษัท พี พี เซรามิค (รามอินทรา) จำกัด, บริษัท ธรรมสรณ์ จำกัด, บริษัท เจ สตีล โปรดักส์ จำกัด, บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด, อเมริกัน สแตนดาร์ด โดยบริษัท ลิกซิล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป ชลธิศ, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เสมือนเรือนเรา และนายสมชาย กมลวิจิตร (ช่างสมชาย) ร่วมสร้างห้องน้ำเพื่อมอบให้กับศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 5 มูลค่า 5 แสนบาทอีกด้วย

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 8 ส่วนเพิ่มเติม โครงการวัฒนาแฟคตอรี่ (2) ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากนายวัฒนา แตงมณี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ ให้ใช้ที่ดินส่วนตัว และออกเงินค่าก่อสร้างเองทั้งหมด เพื่อหวังให้ชาวจังหวัดสมุทรสาคร และแรงงานข้ามชาติได้ใช้สถานที่ดังกล่าวสังเกตอาการและรักษาโควิด-19 ให้มีภูมิคุ้มกันและหายขาด พบว่าก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยแบ่งออกเป็น 2 อาคาร สามารถรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้สูงสุด 1,000 คน โดยเตรียมพื้นที่เมื่อวันที่ 5 ม.ค. เริ่มก่อสร้างวันที่ 9 ม.ค. โดย บริษัท เสมาก่อสร้าง จำกัด ใช้เวลาก่อสร้าง 20 วัน ซึ่งในวันที่ 29 ม.ค. จะมีพิธีสงฆ์และพิธีส่งมอบศูนย์ห่วงใยคนสาคร (รพ.สนาม) ให้ทางจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อใช้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีนายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธาน พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และนาย วุฒิพงษ์ สุภัควนิช หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมพิธี

ภาพ : สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT)
ภาพ : สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT)
ภาพ : สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT)
ภาพ : สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT)

ปัจจุบัน ศูนย์ห่วงใยคนสาคร หรือโรงพยาบาลสนามในจังหวัดสมุทรสาคร มีทั้งหมด 9 แห่ง ยังเหลือบริษัท วิท วอเตอร์ ซิสเต็ม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท เดอะ มันนี่ จำกัด ในพื้นที่ ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ที่กำลังดำเนินการ รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้สูงสุด 400 เตียง คาดว่าจะเปิดใช้งานต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งจะทำให้ศูนย์ห่วงใยคนสาครรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้สูงสุด 3,583 เตียง ส่วนศูนย์ห่วงใยแรงงานสาคร หรือสถานที่ควบคุมและป้องกันโรคในสถานประกอบการ (Factory Quarantine หรือ FQ) มีอยู่ 13 แห่ง รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้สูงสุดเกือบ 3,000 เตียง พร้อมใช้งานแล้ว 10 แห่ง กว่า 2,500 เตียง อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 3 แห่ง จำนวนกว่า 400 เตียง

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *