“แพทย์ใหญ่สมุทรสาคร” ชี้ โควิดระบาดคลองเตย ต้องค้นหาเชิงรุก-ล็อกพื้นที่เป็นจุด


นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา (แฟ้มภาพ)

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เผยโควิดระบาดพื้นที่ชุมชนคลองเตยไม่เหมือนกรณีตลาดกุ้งฯ ที่สมุทรสาคร แนะค้นหาเชิงรุกควบคู่มาตรการ Bubble & Seal ชี้เป้าและล็อกพื้นที่เป็นจุด ๆ ไม่ให้แพร่กระจาย

วันนี้ (4 พ.ค.) นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังถือว่าทรงตัว เพราะมีการรายงานเคสผู้ติดเชื้อวันละ 40-50 ราย มีบางส่วนที่มาจากกรุงเทพฯ บ้าง แต่แนวโน้มก็ลดลงแล้ว เพราะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ได้เองส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งโรงพยาบาลเอกชนใน จ.สมุทรสาคร ที่รับตรวจหาเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่ก็มีการครองเตียงมากขึ้น ก็จะรับตรวจหาเชื้อและดูแลผู้ติดเชื้อลดลงตามไปด้วย

โดยจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข และ ศปก.ศบค. ในการเตรียมโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 400 เตียง ซึ่งได้เตรียมไว้ที่ศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 9 บริษัท วิท วอเตอร์ ซิสเต็ม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เดอะ มันนี่ จำกัด ประมาณ 200 เตียง และที่ศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อีกประมาณ 200 เตียง รวมถึงช่วงที่ผ่านมามีเตียงสำหรับในโรงพยาบาล รับผู้ติดเชื้อสีเขียว (ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ) และสีเหลือง (ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง) ซึ่งส่งต่อมาจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) และสถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี เข้ามาดูแลอยู่

ในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องของผู้ป่วยที่มาจากนอกพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ น่าจะลดลง เพราะทางกรุงเทพมหานครบริหารจัดการเตียงเองได้มากขึ้นในช่วงแรก 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนตอนนี้ปัญหาสำคัญก็น่าจะเป็นเรื่องของพื้นที่ชุมชนคลองเตย ที่อาจจะมีการค้นหาเชิงรุกต่าง ๆ เพิ่มเติม ซึ่งมีความต้องการโรงพยาบาลสนาม โดยทางจังหวัดสมุทรสาครเองก็มีพื้นที่รองรับอยู่ 400 เตียง

สำหรับความยากง่ายในการจำกัดพื้นที่ชุมชนคลองเตย ว่าจะเหมือนกรณีที่ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาครหรือไม่ นพ.นเรศฤทธิ์ ชี้แจงว่าทั้งสองแห่งมีความแตกต่างกัน เพราะพื้นที่คลองเตยเป็นชุมชน จำกัดพื้นที่ค่อนข้างยาก มีขอบเขตพื้นที่ไม่ค่อยชัดเจน และมีผู้พักอาศัยเป็นคนไทย ซึ่งการจัดการจะยากกว่าชาวต่างชาติ อีกทั้งพื้นที่คลองเตยยังมีปัญหาในมิติเชิงสังคมค่อนข้างเยอะ ทั้งเรื่องรายได้ ภาวะเศรษฐกิจ สังคม เป็นปัญหาที่ซับซ้อน

ซึ่งการแก้ปัญหาตนคิดว่าอาจต้องปรับใช้กับหลักระบาดวิทยาดั้งเดิม คือการค้นหาเชิงรุก ควบคู่กับมาตรการ Bubble & Seal ที่กระทรวงสาธารณสุขเคยใช้กับโรงงานในพื้นที่สมุทรสาคร อาจจะต้องชี้เป้าบริเวณที่อาจจะมีการติดเชื้อสูง ดูสถานการณ์และล็อกพื้นที่เป็นจุด ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจาย

ทั้งนี้ เท่าที่ทราบพื้นที่ชุมชนคลองเตยมีหลายชุมชนอยู่ในนั้น และมีประชากรเรือนแสน ซึ่งไม่ต่างจากที่เคยพบใน จ.สมุทรสาคร ถ้าค้นหาเชิงรุกไปเยอะ อัตราผู้ป่วยโควิด-19 ที่สูง ก็อาจจะมีพบผู้ติดเชื้อสูงขึ้นมาได้ แล้วการจัดการก็จะเป็นประเด็นปัญหาเรื่องของเตียงและโรงพยาบาลสนามที่จะรองรับ ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอ

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *