ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร เคลียร์แล้ว นศ.ป่วย “โอมิครอน” แค่สงสัย รอผลแล็บยืนยัน

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ชี้แจงกรณีกระแสข่าวพบนักศึกษาวัยประมาณ 20 ปีเศษ ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ยังคงเป็นเพียงผู้ต้องสงสัย ต้องรอผลยืนยันจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ ที่ 5 จ.สมุทรสงคราม

วันนี้ (30 ธ.ค.) เวลา 13.30 น. ภายหลังจากที่มีกระแสข่าวแพร่สะพัดออกมาว่า พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร นั้น ล่าสุดทางผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ณ ห้องปฏิบัติราชการ ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อยืนยันความชัดเจนเกี่ยวกับผู้ป่วยรายดังกล่าว โดยนายณรงค์ เปิดเผยว่า จากการสอบสวนโรคแล้ว ผู้ป่วยรายนี้ยังคงเป็นแค่เพียงผู้ต้องสงสัยว่าจะป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเท่านั้น แต่ยังไม่ยืนยันผลที่ชัดเจน ต้องรอผลการตรวจหาเชื้ออย่างเป็นทางการจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 จ.สมุทรสงครามอีกราว 1 สัปดาห์

สำหรับผู้ติดเชื้อรายนี้ เป็นนักศึกษาหญิง อายุประมาณ 20 ปีเศษ เดินทางไปกลับระหว่างบ้านที่ จ.สมุทรสาคร กับ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ผู้ป่วยยืนยันว่าไม่มีการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศพื้นที่เสี่ยง และไม่เคยเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอน ส่วนอาการนั้นมีลักษณะเป็นไข้ ไอ จึงได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร แล้วก็พบว่าติดเชื้อโควิด-19 จริง แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการที่แตกต่างไปจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ทั่วไปที่มีการระบาด จึงต้องส่งตรวจหาเชื้อสายพันธุ์ที่ชัดเจน

ขณะเดียวกันในส่วนของผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีอยู่กว่า 10 รายนั้น จากการตรวจหาเชื้อโดยวิธีการ RT-PCR แล้ว กลับไม่พบการติดเชื้อเลย ทั้ง ๆ ที่ถ้าเป็นสายพันธุ์โอมิครอนจริง การแพร่เชื้อจะเป็นไปอย่างรวดเร็วทุกคนก็น่าจะต้องติดเชื้อไปด้วย  ซึ่งในส่วนของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกคนตอนนี้อยู่ระหว่างการกักตัวตามกระบวนการควบคุมโรค โดยทั้งผู้ป่วยและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกคนล้วนแต่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว

นายณรงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากจะนำผู้ติดเชื้อ ที่ไม่ปรากฏอาการรุนแรงใดๆ เข้าสู่กระบวนการรักษา และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเข้าสู่กระบวนการควบคุมโรคแล้ว ยังได้สั่งการให้สาธารณสุขจังหวัดทำการสอบสวนโรคเพิ่มเติม เพื่อค้นหาต้นตอว่าผู้ติดเชื้อรายนี้ไปสัมผัสกับใคร หรือไปในที่ไหนมาอีกบ้าง หากเป็นกรณีที่ติดเชื้อโอไมครอนจริง จะได้ทำการตรวจสกัดจุดแพร่ระบาดได้ทัน แต่ถ้าไม่ใช่สายพันธุ์โอมิครอน ก็จะได้ทำการค้นหากลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติมไปในตัวทีเดียวอีกด้วย

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *