“บิ๊กโจ๊ก” สั่งตรวจสอบเรือประมงสมุทรสาคร-ชลบุรี ลักลอบใช้อวนผิดประเภท

“พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล” ผู้ช่วย ผบ.ตร. สั่งปฏิบัติการตรวจสอบเรือประมงลักลอบดัดแปลงอวนทั่วประเทศ สำรวจเบื้องต้นมีเรือประมงใช้อวนผิดประเภท 131 ลำ จากทั้งหมดประมาณ 1 หมื่นลำ ปูพรมตรวจพบได้ที่ชลบุรีและสมุทรสาคร

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 17 ส.ค. 65 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมด้วย คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมง ตามคำสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเรือประมงใน จ.สมุทรสาคร ที่ลักลอบให้อวนผิดประเภท ซึ่งตอนนี้ได้ทำการควบคุมเรือประมงที่ใช้อวนลากทำการประมงผิดประเภทไว้แล้วจำนวน 6-7 ลำ และยังมีที่อยู่ในระหว่างการตรวจสอบอีกจำนวนหนึ่ง เบื้องต้นในส่วนของเรือที่สำรวจแล้วพบว่ามีการใช้อวนผิดประเภทนั้นมีอยู่ 131 ลำ คิดเป็นราว ๆ 1.31 เปอร์เซ็นต์ของเรือประมงไทยที่ยังคงมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 10,000 ลำ

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า จากกรณีที่ประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับการรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2565 หรือ TIP Report (Trafficking in Persons Report 2022) โดยยกระดับประเทศไทยจาก “เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง : กลุ่มสีเหลือง” (Tier 2 Watch List)  เป็น “เทียร์ 2” (Tier 2 : กลุ่มสีเขียว) ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ทำให้ประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดี และขยับระดับที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ในการนี้นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ยังคงต้องดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) อย่างเร่งด่วนต่อไป เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการทำประมงไทยไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน และรักษาทรัพยากรทางทะเลให้คงไว้อย่างยาวนาน

ประกอบกับคณะทำงานติดตามสถานการณ์ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมง และแรงงานในภาคประมงฯ ได้ออกปฏิบัติการ “Air Land Sea” เป็นปฏิบัติการในการตรวจสอบการทำประมงโดยผิดกฎหมายของเรือประมง เพราะที่ผ่านมาเคยมีการตรวจพบเรือประมงที่มีการดัดแปลงอวนลาก ทำให้ตาอวนมีขนาดเล็กลง เพื่อให้สามารถดักจับปลาขนาดเล็กได้ ซึ่งการใช้อวนขนาดดังกล่าว ผิดเงื่อนไขจากที่ได้รับอนุญาต และเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย โดยได้มีการออกตรวจสอบเรือประมงอวนลากคู่ที่ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พบเรือที่ใช้อวนมีลักษณะผิดไปจากเงื่อนไขในใบอนุญาต จึงได้สั่งการให้คณะทำงานฯ ลงพื้นที่ตรวจแบบปูพรมทั่วประเทศ โดยพบที่ จ.สมุทรสาคร จำนวน 4 ลำ และที่ จ.ชลบุรี อีกจำนวน 4 ลำ ซึ่งเรือประมงทั้งหมดจะถูกดำเนินคดีฐานดัดแปลงเครื่องมือประมงให้ผิดไปจากลักษณะของเครื่องมือที่ระบุไว้ในใบอนุญาตตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 42 และ มาตรา 132 มีโทษปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท ขึ้นอยู่กับขนาดเรือ

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในประเทศไทย ยังคงมีการตรวจสอบการทำประมงของเรือประมงไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นสร้างความเข้าใจกับชาวประมงให้สามารถทำการประมงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งเป็นการบังคับใช้กฎหมายประมงเพื่อปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายด้วย ซึ่งจากปฏิบัติการของคณะทำงานดังกล่าว ยังตรวจพบเรือประมงที่ยังฝ่าฝืนลักลอบใช้อวนตาถี่ในการทำประมง เพราะหวังจะให้ได้ปลามากที่สุด แต่แท้จริงแล้วการใช้อวนตาถี่จะเป็นการทำลายทรัพยากร ไม่ปล่อยให้ปลาขนาดเล็กเติบโต ดังนั้นเพื่อให้สามารถทำประมงได้อย่างยั่งยืน จึงมีกำหนดขนาดอวนที่ใช้ตามกฎหมายอยู่แล้ว

และเมื่อตรวจพบความผิดดังกล่าว จึงต้องมีการดำเนินคดีโดยเด็ดขาด เพื่อให้การทำประมงของไทยเป็นไปตามกฎหมาย และหลักสากลเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ อีกทั้งยังเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมต้อนรับ EU ที่จะเดินทางมาตรวจสอบการทำประมงทำผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing ในช่วงต้นเดือน ต.ค. นี้ด้วย ทั้งนี้ก็ขอให้ผู้ทำประมงทุกประเภทที่ลักลอบทำประมงด้วยเครื่องมือที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น รีบดำเนินการแก้ไขใช้เครื่องมือให้ถูกประเภท ทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะได้ไม่ถูกดำเนินคดีหากมีการเข้าตรวจของเจ้าหน้าที่ฯ

ทางด้านผู้ควบคุมเรือประมงลำหนึ่ง บอกว่า ไม่มีเรือประมงลำไหนอยากทำประมงแบบผิดกฎหมาย เพราะโทษนั้นถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวและแทบจะต้องขายเรือ หรือจอดเรือทิ้ง อีกทั้งการจอดเรือยังต้องแบกรับภาระต่าง ๆ มากมาย แต่ที่ทุกวันนี้ยังพบการกระทำที่ผิดพลาดหลงเหลืออยู่บ้างก็เพราะกฎหมายของแต่ละหน่วยงานที่เปลี่ยนแปลงแทบจะทุกวัน จนแทบไม่มีใครจำได้ว่ามีกฎหมายอะไรออกมาบังคับใช้แล้วบ้าง จึงทำให้ชาวประมงบางคนไม่สามารถตามกฎหมายที่ออกมาควบคุมได้ทัน ดังนั้นจึงต้องการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการทำงานของภาคประมงในทุก ๆ ภาคส่วน หันหน้ามาพูดคุยกันแล้วหาข้อสรุปที่ชัดเจนให้ได้เสียที เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่เหมือนกันทั้งหมด ใช้ข้อกฎหมายฉบับเดียวกัน ก่อนที่จะประกาศให้พี่น้องชาวประมงไทยได้ปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้นคนที่ไม่รู้เรื่องกฎหมายหรือตามการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของแต่ละหน่วยงานในแต่ละวันไม่ทัน ก็ต้องถูกจับเพราะถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายเรื่อยไปอยู่ดี

สำหรับการกำหนดการใช้เครื่องมือทำประมง ประเภทอวนคู่ ผู้แทนกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล ได้อธิบายลักษณะเครื่องมือประมงตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตตาม “ข้อ 4 เนื้ออวนตลอดทั้งผืนต้องมีชั้นเดียว ยกเว้นบริเวณก้นถุงให้ใช้อวนรองก้นถุงที่มีขนาดตาอวน ไม่น้อยกว่า 7 ซม. ในกรณีที่มีเส้นเชือกประคองก้นถุงหย่อน ทั้งด้านบนและด้านล่าง ต้องมีจำนวนเส้นเชือกประคองก้นถุงทั้งหมดไม่เกิน 8 เส้น และห้ามวัสดุอื่นใดร้อยตาอ้วนตามแนวขวาง” ซึ่งอวนรองก้นถุงมีไว้เพื่อป้องกันเนื้ออวนก้นถุงเสียหาย จากกรณีที่อวนอาจจะไปถูกับพื้นทะเล โดยการใช้อวนรองก้นถุง ส่วนปลายสุดจะต้องไม่เย็บปิดหรือไม่มีการผูกปลายอวนรองก้นถุง เพราะหากมีการเย็บหรือผูกปลายอวนรองก้นถุงจะทำให้กลายเป็นลักษณะของอวนก้นถุงสองชั้น และห้ามใช้เชือกหรือวัสดุอื่นใด ร้อยตาอวนตามแนวขวาง

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *