ถอดบทเรียนอุบัติเหตุถนนพระราม 2 รองปลัดคมนาคมกำชับกรมทางหลวง ย้ำมาตรการปลอดภัยสูงสุด

รองปลัดกระทรวงคมนาคมลงพื้นที่ติดตามปัญหาอุบัติเหตุบนถนนพระราม 2 หลังเกิด 3 เหตุการณ์ติดกัน ตั้งแต่คานสะพานกลับรถพังถล่ม มวลน้ำร่วงหล่นจากท้องคาน และท่อนเหล็กไหลลอดม่านบังตาใส่รถยนต์ กำชับกรมทางหลวงมาตรการความปลอดภัยผู้ใช้ทางขั้นสูงสุด

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่สำนักงานโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ถนนพระราม 2 กม. 27 ขาเข้า ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร นายนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ พร้อมคณะกรรมการ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่เกิดอุบัติเหตุ บนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระรามที่ 2) พร้อมรับฟังบรรยายสรุปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุบนถนนพระรามที่ 2 บ่อยครั้ง

นายอภิชาติ จันทรทรัพย์ รองอธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เน้นย้ำเรื่องมาตรการความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้างให้มีความรัดกุมในทุกด้าน และพิจารณามาตรการเสริมความปลอดภัยในด้านต่างๆ เพื่อไม่ให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งในที่ประชุมได้สรุปกรณีอุบัติเหตุคานสะพานกลับรถพังถล่ม อุบัติเหตุน้ำขังบริเวณผ้าใบกันวัสดุตกหล่นร่วงลงมาใส่หลังคารถยนต์ และอุบัติเหตุชิ้นส่วนเหล็กแบบหล่อสะพานลอดช่องว่างของแผงกั้นโดนรถยนต์ ดังนี้ 

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2565 กรณีอุบัติเหตุคานสะพานกลับรถพังถล่มบนทางหลวงหมายเลข 35 ตอน สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน – นาโคก ที่กม.34 (หน้าโรงพยาบาลวิภาราม) จ.สมุทรสาคร กรมทางหลวงได้ทำการรื้อย้ายคานสะพานแล้วเสร็จ ซึ่งในส่วนขั้นตอนต่อไปจะทำการตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างสะพานและเร่งพิจารณาออกแบบกำหนดแนวทางก่อสร้างซ่อมแซมที่เหมาะสม และได้นำข้อมูลข้อแนะนำจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.)  และสภาวิศวกร มาจัดทำเป็นมาตรการเพิ่มเติม เพื่อเป็นแนวทางป้องกันอุบัติเหตุในระยะยาว พร้อมทั้งได้เยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างเต็มที่  

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2565 กรณีอุบัติเหตุมวลน้ำร่วงหล่นจากท้องคานขวางลงมาใส่รถยนต์ในพื้นที่โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สาย ธนบุรี – ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย ตอน 1 กรุงเทพมหานคร โดยหลังจากเกิดเหตุโครงการฯ ได้เข้าประสานกับผู้เสียหายเพื่อชดใช้ค่าเสียหายรวมถึงการซ่อมแซมรถยนต์ให้สามารถใช้งานได้ดังเดิม โดยได้นำรถขนย้ายรถที่เกิดเหตุไปยังอู่ซ่อมรถยนต์ในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ในส่วนค่าทำขวัญและค่าซ่อมรถอยู่ระหว่างการเจรจา ทั้งนี้ โครงการฯ ได้สั่งการผู้รับจ้างเปลี่ยนวัสดุคลุมใต้ท้องคานเป็นตาข่ายนิรภัย เพื่อป้องกันวัสดุตกหล่น ซึ่งเมื่อมีการเชื่อมตัดที่เกิดสะเก็ดไฟให้ใช้ผ้าใบกันสะเก็ดไฟและเก็บผ้าใบทันทีเมื่อทำงานเสร็จจะไม่มีการติดตั้งทิ้งไว้บริเวณพื้นที่ก่อสร้าง     

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2565 กรณีอุบัติเหตุท่อนเหล็กไหลลอดม่านบังตาออกมาใส่รถยนต์บนทางหลวงหมายเลข 35 ช่วง กม.13+200 (ขาออก กทม.) ช่องทางหลัก ในพื้นที่โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สาย ธนบุรี – ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย ตอน 1 กรุงเทพมหานคร โดยหลังจากเกิดเหตุโครงการฯได้เข้าประสานกับผู้เสียหายหลังจากที่เกิดเหตุทันทีและได้ซ่อมแซมจุดที่เสียหายให้สามารถใช้งานได้ปกติ พร้อมรับผิดชอบค่าเสียหายและได้มอบเงินชดเชยค่าขาดรายได้เป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ ยังได้มอบรถยนต์เช่าให้ผู้เสียหายใช้ระหว่างที่รถยนต์เข้ารับการซ่อมแซมอีกด้วย

ทั้งนี้ โครงการฯ ได้กำชับให้ผู้รับจ้างดำเนินการตามมาตรการในการขนส่งเคลื่อนย้ายวัสดุในพื้นที่ก่อสร้างอย่างเคร่งครัด โดยให้ยึดรั้งและใช้ตาข่ายคลุมวัสดุอีกชั้นหนึ่ง ก่อนการเคลื่อนย้ายวัสดุต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยตรวจสอบอนุมัติความเรียบร้อยก่อนการเคลื่อนย้ายสิ่งของ 

“กรมทางหลวงจะเร่งดำเนินการตรวจสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของโครงสร้างสะพานกลับรถ สะพานยกระดับ สะพานลอยข้ามแยก สะพานข้ามแม่น้ำ และอื่นๆ บนโครงข่ายทางหลวงสายหลักทุกจุดอย่างละเอียด ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้ทางมากยิ่งขึ้นต่อไป” นายอภิชาติ กล่าว

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *