เปิดเวทีแผนแม่บท MR-MAP พื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล 4 แนวเส้นทางผ่านสมุทรสาคร

กรมทางหลวง จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 การศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) ภายใต้การศึกษา MR-MAP พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 11 จังหวัด ด้าน จ.สมุทรสาคร มี 4 แนวเส้นทาง วงแหวนฯ ที่รอบ 3 ขยับจุดขึ้น-ลง ถ.พระราม 2 ด้านใต้ปรับแนวเส้นทางตามโครงการพระสมุทรเจดีย์ พร้อมเส้นทางรถไฟสายใหม่

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 ก.พ. 66 ที่ห้องทวารวดี ชั้น 2 โรงแรมไมด้า แกรนด์ ทวารวดี นครปฐม จ.นครปฐม นายสมเกียรติ พูลสุขเสริม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 การศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) ภายใต้การศึกษา MR-MAP พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีผู้แทนกรมทางหลวง ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจาก 11 จังหวัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภาคกลาง เข้าร่วมประชุม ทั้งแบบออนไลน์ (Online) ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings และแบบออนไซต์ (Onsite) ภายในห้องประชุม

นายจุมพต พุ่มประดับ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม แขวงทางหลวงนครปฐม กล่าวว่า ตามที่กองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ให้เป็นผู้ดำเนินการศึกษาปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษ พร้อมการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) นั้น หลังจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา ที่ปรึกษาได้ข้อเสนอแนะจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปประกอบการปรับปรุงแนวเส้นทาง เพื่อให้แนวเส้นทางมีความเหมาะสมและตรงกับความต้องการใช้งานของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเพื่อใช้ประกอบศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอการปรับปรุงแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และการบูรณาการร่วมกับระบบราง และนําเสนอแนวเส้นทางโครงการที่เหมาะสมและรายละเอียดของแนวเส้นทางแต่ละช่วงตามแผนแม่บท พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่แนวเส้นทางโครงการพาดผ่าน ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ อ่างทอง นนทบุรี นครนายก สระบุรี และกรุงเทพมหานคร


แผนที่ MR-MAP

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับที่มาของงานศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง หรือ MR-MAP เป็นแนวคิดของกระทรวงคมนาคม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่ บรรเทาปัญหาเรื่องผลกระทบของประชาชนจากการเวนคืนพื้นที่ และการแบ่งแยกชุมชน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการกระจายความเจริญ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมไปสู่พื้นที่ใหม่ โดยการดำเนินการจะเป็นการวางแผนโครงข่ายระบบถนนและระบบรางพร้อมกัน ซึ่งเป็นการบูรณาการแผนแม่บทรูปแบบการเดินทางร่วมกันครั้งแรก โดยวางแผนพร้อมกัน แต่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกันทั้งหมด ทั้งนี้ การดำเนินการจะต้องพิจารณาความเหมาะสมรอบด้าน ทั้งด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนส่วนรวม และสอดคล้องกับหลักการพัฒนาเมืองตามแผน นโยบาย และยุทธศาสตร์ชาติ

ปัจจุบันกรมทางหลวงได้จัดทำร่างแผนแม่บท MR-MAP จำนวน 10 เส้นทาง ระยะทางทั้งหมดประมาณ 7,272 กม. โดยมีเส้นทางที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง 4,891 กม. ร่างแผนแม่บท MR-MAP ได้พิจารณาความเหมาะสมในการเชื่อมโยงพื้นที่ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประกอบด้วย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) รวมทั้งพื้นที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ

โดยแบ่งเป็นเส้นทางเชื่อมโยงแนวเหนือ-ใต้ จำนวน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทาง MR1 เชียงราย-นราธิวาส ระยะทาง 2,125 กม. / เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี (แหลมฉบัง)-หนองคาย (ด่านหนองคาย) ระยะทาง 917 กม. / เส้นทาง MR3 บึงกาฬ-สุรินทร์ ระยะทาง 544 กม. เส้นทางเชื่อมโยงแนวตะวันออก-ตะวันตก จำนวน 6 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทาง MR4 ตาก-นครพนม ระยะทาง 856 กม. / เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี-อุบลราชธานี ระยะทาง 1,049 กม. / เส้นทาง MR6 กาญจนบุรี-สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) ระยะทาง 390 กม. / เส้นทาง MR7 กรุงเทพฯ-ระยอง (มาบตาพุด)/ตราด (ด่านคลองใหญ่) ระยะทาง 467 กม. / เส้นทาง MR8 ชุมพร-ระยอง ระยะทาง 91 กม. / เส้นทาง MR9 สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต ระยะทาง 185 กม. และเส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล เส้นทาง MR10 ได้แก่ วงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 2 (ถนนกาญจนาภิเษก) วงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 3 และเส้นทางเชื่อมวงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 2 และ 3 ระยะทาง 648 กม.

สำหรับแนวเส้นทางที่ได้นำเสนอในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่

1. เส้นทาง MR1 เชียงใหม่-นราธิวาส: ช่วง MR1-7 สุพรรณบุรี-นครสวรรค์ ระยะทาง 144 กม. / ช่วง MR1-8 นครปฐม-สุพรรณบุรี ระยะทาง 73 กม. / ช่วง MR1-9 นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 144 กม.

2. เส้นทาง MR6 กาญจนบุรี-สระแก้ว: ช่วง MR6-2 กาญจนบุรี-พุน้ำร้อน ระยะทาง 82 กม. / ช่วง MR6-3 จตุโชติ-วงแหวนฯ รอบที่ 3 (ด้านตะวันออก) / ช่วง MR6-4 วงแหวนฯ รอบที่ 3 (ด้านตะวันออก)-ปราจีนบุรี ระยะทาง 99 กม.

3. เส้นทาง MR10 เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล: ช่วง MR10-2 วงแหวนฯ รอบที่ 3 (ด้านเหนือ) ช่วง สุพรรณบุรี-ทล.32 ระยะทาง 34 กม. / ช่วง MR10-3 วงแหวนฯ รอบที่ 3 (ด้านตะวันออก) ช่วง ทล.32-ทล.305 ระยะทาง 70 กม. / ช่วง MR10-4 วงแหวนฯ รอบที่ 3 (ด้านตะวันออก) ช่วง ทล.305-ทล.34 ระยะทาง 52 กม. / ช่วง MR10-5 วงแหวนฯ รอบที่ 3 (ด้านใต้) ช่วง ทล.34-ทล.35 ระยะทาง 77 กม. / ช่วง MR10-6 วงแหวนฯ รอบที่ 3 (ด้านตะวันตก) ช่วง ทล.35-นครปฐม ระยะทาง 28 กม. / ช่วง MR10-8 บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. / ช่วง MR10-9 บ้านแพ้ว-ปากท่อ ระยะทาง 47 กม.


ภาพแนวเส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แนวเส้นทางที่อยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ได้แก่ ช่วง MR10-5 วงแหวนฯ รอบที่ 3 (ด้านใต้) ช่วง ทล.34-ทล.35 โดยเป็นการนำ “โครงการพระสมุทรเจดีย์” ที่กรมทางหลวงชนบทได้เคยศึกษาไว้มาปรับแนวใหม่จากเดิมเริ่มที่ ถ.เทพารักษ์ ให้มาเริ่มตั้งแต่ถนนบางนา-ตราด ผ่าน อ.บางเสาธง อ.บางบ่อ อ.บางพลี อ.เมืองฯ และ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ และสิ้นสุดที่ถนนพระราม 2 อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร พร้อมเส้นทางรถไฟสายใหม่ เชื่อมทางรถไฟสายตะวันออกในการขนส่งสินค้า

ช่วง MR10-6 วงแหวนฯ รอบที่ 3 (ด้านตะวันตก) ช่วง ทล.35-นครปฐม เริ่มตั้งแต่ถนนพระราม 2 บริเวณ ต.ชัยมงคล อ.เมืองฯ ผ่าน ต.หลักสาม อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เข้า อ.สามพราน แล้วสิ้นสุดที่ ต.ศรีษะทอง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยเป็นการนำโครงการวงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 3 ฝั่งตะวันตก ที่กรมทางหลวงเคยศึกษาไว้มาปรับแนวใหม่ จากเดิมจุดขึ้นลงบริเวณถนนพระราม 2 กม.22 (ใกล้กับห้างไทวัสดุ สาขามหาชัย) ในพื้นที่ ต.นาดี อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เนื่องจากชุมชนเมืองมีความเติบโตมากขึ้น การใช้แนวเส้นทางเดิมจะมีผลกระทบต่อประชาชนมาก จึงได้ขยายแนวเส้นทางออกมาไกลมากขึ้น และจะได้เชื่อมเส้นทาง MR1 ช่วง MR1-9 นครปฐม-ชะอำ พร้อมเส้นทางรถไฟสายใหม่

ช่วง MR10-8 บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว หรือทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 (M82) เป็นสายทางยกระดับบนถนนพระราม 2 เชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เริ่มตั้งแต่แยกกาญจนา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 68

ช่วง MR10-9 บ้านแพ้ว-ปากท่อ เป็นการก่อสร้างทางยกระดับบนถนนพระราม 2 ต่อเนื่องจากช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ผ่าน อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม ไปจนถึง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ส่วนระบบรางจากที่วิ่งไปตามเส้นทางรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลอง จะตัดเส้นทางรถไฟสายใหม่ที่บริเวณ ต.บางแก้ว วกขึ้นไปทาง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ไปสิ้นสุดที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เชื่อมกับทางรถไฟสายใต้สำหรับการขนส่งสินค้าในอนาคต  

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *