
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรสาคร แถลงข่าวผลการดำเนินงานฯ ประจำปี 66 ในรอบ 6 เดือนรับเรื่องตรวจสอบ 62 เรื่อง ส่วนใหญ่มาจาก อปท. ยกคดีฟันผู้บริหารท้องถิ่นและพวกในพื้นที่กระทุ่มแบน ตรวจรับงานจ้าง-อนุมัติเบิกจ่ายสร้างอาคารเอนกประสงค์ ทั้งที่งานยังไม่แล้วเสร็จ ขณะที่ผลประเมิน ITA จังหวัดสมุทรสาครคะแนนอันดับ 1 ของพื้นที่ภาค 7 – อบต.พันท้ายนรสิงห์ ได้คะแนนสูงสุดของจังหวัดฯ ส่วนกรณีอาหารกลางวันโรงเรียนที่เป็นข่าวดัง อยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น
วานนี้ (1 ก.ย.) เวลา 10.00 น. นางนิตรา เพิ่มทรัพย์ ลิ้มกาญจนาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยคณะทำงาน ร่วมแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานด้านปราบปรามการทุจริต ปีงบประมาณ 2566 รอบ 6 เดือน ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. – 30 ก.ย. 66 โดยมี นางสายเพชร จังกาจิตต์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยสื่อมวลชนท้องถิ่นเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าว ณ ห้องประชุม ชั้น 1 สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรสาคร ถ.เอกชัย หมู่ 1 ต.นาดี อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร
นางนิตรา เพิ่มทรัพย์ ลิ้มกาญจนาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานด้านปราบปรามการทุจริต ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ภารกิจด้านปราบปรามการทุจริต ภารกิจด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน และภารกิจด้านการป้องกันการทุจริต ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา


สำหรับภารกิจด้านปราบปรามการทุจริต มีเรื่องตรวจสอบเบื้องต้น ยกมาหรือรับใหม่ทั้งหมดรวม 62 เรื่อง ทางสำนักงานฯ ดำเนินการแล้วเสร็จรวม 32 เรื่อง แบ่งออกเป็น อยู่ระหว่างเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ หรือกรรมการ ป.ป.ช. ที่กำกับดูแล หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. 16 เรื่อง กรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่ง หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแล้ว โดยรับไว้ไต่สวนเบื้องต้น 3 เรื่อง ส่งหน่วยงานภายนอก 5 เรื่อง และไม่รับไว้พิจารณา 8 เรื่อง คงเหลือ 30 เรื่อง
ขณะที่เรื่องไต่สวนเบื้องต้น ยกมาหรือรับใหม่ทั้งหมดรวม 17 เรื่อง ทางสำนักงานฯ ดำเนินการแล้วเสร็จรวม 9 เรื่อง โดยอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา 9 เรื่อง คงเหลือ 8 เรื่อง

โดยสถิติในชั้นตรวจสอบเบื้องต้น จำนวนเรื่องกล่าวหาร้องเรียนจำแนกตามประเภทหน่วยงานรัฐ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 35 แห่ง ราชการส่วนภูมิภาค 14 แห่ง โรงเรียนหรือสถานศึกษา 8 แห่ง โรงพยาบาล 4 แห่ง และกระบวนการยุติธรรม 1 แห่ง โดยประเภทเรื่องร้องเรียน 3 อันดับแรก ได้แก่ การจัดซื้อจัดจ้าง 21 เรื่อง การเงิน 15 เรื่อง การเรียกรับสินบน 5 เรื่อง


นางนิตรา ได้ยกตัวอย่างคดีที่ทางสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวหา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งกับพวกในพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ตรวจรับงานจ้างและอนุมัติเบิกจ่ายเงินโครงการก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์บริเวณทิศตะวันตกของอาคารสำนักงานฯ ทั้งที่งานยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิด โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 มีคำพิพากษาลงโทษปรับและจำคุกคณะกรรมการตรวจงานจ้างและผู้ควบคุมงาน รวม 6 คน และผู้รับจ้าง รวม 2 คน โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ในส่วนของผู้อนุมัติเบิกจ่ายให้กับผู้รับจ้างทั้งที่งานยังไม่แล้วเสร็จ ศาลมีคำสั่งให้แยกฟ้องอีกคดีหนึ่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา
ขณะที่ภารกิจด้านตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแล้ว เป็นประเภทบัญชีปกติ 83 บัญชี ยืนยัน 1 บัญชี รวม 84 บัญชี ยังไม่ปรากฎกรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีฯ หรือยื่นบัญชีฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ

ส่วนภารกิจด้านการป้องกันการทุจริต เริ่มจากผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ประกาศผลการประเมิน เมื่อ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครมีหน่วยงานเข้าร่วมการประเมินทั้งสิ้น 39 หน่วยงาน ภาพรวมมีผลคะแนนเฉลี่ย 91.51 คะแนน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 0.15 คะแนน แต่มีหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดฯ สามารถบรรลุค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ จำนวน 36 หน่วยงาน หรือร้อยละ 92.30 สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 5.12
โดยจังหวัดสมุทรสาคร เป็นหน่วยงานที่มีผลการประเมินสูงสุดรายประเภทจังหวัด (ราชการส่วนภูมิภาค) ได้คะแนน 97.01 ซึ่งเป็นลำดับ 1 ของพื้นที่ภาค 7 และลำดับ 18 ของประเทศ ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสมุทรสาครจำนวนทั้งสิ้น 38 แห่ง มีผลการประเมินฯ ผ่านเกณฑ์จำนวน 35 แห่ง ไม่ผ่านเกณฑ์จำนวน 3 แห่ง ซึ่ง อบต.พันท้ายนรสิงห์ ได้ผลการประเมินสูงสุดของหน่วยงานในจังหวัดสมุทรสาคร 97.97 คะแนน


นางนิตรา กล่าวต่อไปว่า ขณะที่การติดตามมาตรการหรือข้อเสนอแนะของสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ มาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ซึ่งทางสำนักงานฯ มีการลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินการรับนักเรียนปีการศึกษา 2566 ของโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 2 แห่งใน อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยภาพรวมเป็นไปตามประกาศของ สพฐ.
ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยทางสำนักงานฯ มีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ติดตาม และสังเกตการณ์การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนระดับประถมศึกษา ในพื้นที่เทศบาลแห่งหนึ่งใน อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร และได้ให้ข้อเสนอแนะในประเด็นที่ควรปรับปรุงกับโรงเรียน

และข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ประจำปี 66 ทางสำนักงานฯ ได้ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบ ติดตาม และสังเกตการณ์ตามข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตตามแนวทาง หรือมาตรการ หรือวิธีการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ที่กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด ณ สถานีตรวจสอบน้ำหนักสมุทรสาคร (ขาออก-ขาเข้า) พื้นที่ ต.นาโคก อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร
นางนิตรา กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับการดำเนินการศูนย์ป้องปรามการการทุจริตแห่งชาติ (CDC) โดยข้อมูลการร้องเรียนภายในจังหวัดฯ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทางสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสมุทรสาคร รับเรื่องไว้ดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ. 2561 ได้แก่ กรณีอาหารกลางวัน โรงเรียนเทพนรรัตน์ (อู๋ไพจิตรเรียบร้อยเจริญ) เมื่อ 20 มิ.ย. 66 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น (ดำเนินการแล้ว 40-50%) กรณีอาหารกลางวัน โรงเรียนวัดพันธุวงษ์ (ปรีชาเลี่ยมราษฎร์บำรุง) เมื่อ 23 มิ.ย. 66 และกรณีที่ อบต.ชัยมงคล ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงกับเอกชนที่ไม่ตรงคุณสมบัติจำนวนหลายโครงการ เมื่อ 10 ก.ค. 66 โดยอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นเช่นกัน
สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง