เริ่มใช้ใบสั่งรูปแบบใหม่ 17 ธ.ค. นี้ เฉพาะกรณีไม่ยึดใบขับขี่ จ่ายสะดวกผ่านกรุงไทย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำร่อง 4 พื้นที่ แจกใบสั่งรูปแบบใหม่ที่มีบาร์โค้ดมาใช้ เฉพาะกรณีไม่ได้ยึดใบขับขี่ จ่ายผ่านช่องทางธนาคารกรุงไทย เคาน์เตอร์เซอร์วิส และไปรษณีย์ ก่อนบังคับใช้ทั่วประเทศปีหน้า เตือนไม่จ่ายขนส่งฯ ไม่ต่อภาษีให้ ส่วนกรณียึดใบขับขี่ จ่ายที่โรงพักภายใน 7 วันเหมือนเดิม

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ในวันที่ 17 ธันวาคมนี้ จะนำใบสั่งรูปแบบใหม่ที่มีบาร์โค้ดมาใช้ในระยะแรก 4 พื้นที่ ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1 (สมุทรปราการ, นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, ลพบุรี, อ่างทอง, สิงห์บุรี, ชัยนาท) ตำรวจภูธรภาค 2 (ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, นครนายก, สระแก้ว) และตำรวจภูธรภาค 7 (นครปฐม, กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม) ก่อนที่จะบังคับใช้ทั่วประเทศในวันที่ 31 มกราคม 2561

ในระยะแรกนี้จะเป็นการบังคับใช้เฉพาะกรณีที่เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ (ใบสั่ง) แปะไว้ที่หน้ารถ หรือในกรณีที่ไม่ได้มีการเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราว แต่ได้ออกใบสั่งให้แก่ผู้ขับขี่ไว้เท่านั้น เช่น กรณีจอดรถกีดขวางการจราจร จอดรถในที่ห้ามจอด เป็นต้น แต่ไม่ได้ครอบคลุมในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตั้งจุดตรวจ กวดขันวินัยจราจร แล้วตรวจพบการกระทำความผิด ได้เรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราว แล้วได้ออกใบสั่งให้แก่ผู้ขับขี่ไว้ ที่ต้องไปชำระค่าปรับที่สถานีตำรวจ หรือสถานที่ที่กำหนดไว้ภายใน 7 วัน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 140

สำหรับช่องทางการชำระเงิน สามารถชำระผ่านธนาคารกรุงไทย ตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย อินเทอร์เน็ต แบงก์กิ้ง KTB Netbank, เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือที่ไปรษณีย์ไทยทุกแห่ง โดยคิดค่าธรรมเนียมครั้งละ 20 บาท ช่วยอำนวยความสะดวกในการชำระค่าปรับให้แก่ผู้ได้รับใบสั่งที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก หรือ พ.ร.บ.รถยนต์ ในกรณีที่ไม่ได้มีการเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราว ไม่ต้องเดินทางไปสถานีตำรวจ และสามารถตรวจสอบย้อนหลังถึงพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดที่เป็นผู้ออกใบสั่ง ว่าได้ออกใบสั่งแก่ผู้ใด เมื่อใด และในข้อหาความผิดใด ซึ่งหากผู้ขับขี่ไม่ชำระภายในกำหนด จะออกใบแจ้งเตือนให้มาชำระภายใน 30 วัน และจะส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอดำเนินการงดออกเครื่องหมายแสดงภาษี จนกว่าจะชำระค่าปรับเสร็จสิ้น ตามคำสั่ง คสช. ที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก

พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธ์ รักษาราชการแทนที่ปรึกษา สบ 10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวในการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 13 ที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่า ได้เริ่มแจกจ่ายใบสั่งแบบใหม่ ซึ่งจะมีแถบบาร์โค้ดให้กับสถานีตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1, 2 และ 7 นำไปใช้บางส่วนแล้ว โดยได้กำชับให้สถานีตำรวจทุกแห่งบันทึกใบสั่งลงในระบบบริหารจัดการใบสั่ง และรับชำระเงิน หรือ พีทีเอ็ม (Police Ticket Management : PTM) เพื่อเป็นการเตรียมข้อมูลสำหรับการรับชำระค่าปรับผ่านทางธนาคาร โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ทุกคน สามารถใช้ระบบพีทีเอ็มได้ อีกทั้งได้กำชับให้แต่ละโรงพักมีการบันทึกใบสั่งที่ออกไปแล้วลงในระบบทุกวัน โดยคาดหวังว่า ปัญหาประชาชนไม่ชำระค่าปรับจะลดน้อยลงกว่าที่ผ่านมา

“ระบบจะออกใบสั่งโดยใช้การตรวจสอบจากกล้องซีซีทีวี รวมถึงใบสั่ง ที่เขียนด้วยมือจะมีบาร์โค้ด สามารถควบคุมใบสั่งทั่วประเทศ ตรวจสอบได้ว่าดำเนินการชำระค่าปรับหรือไม่ วันนี้จับกุมได้ทั่วประเทศไปกี่ราย ในรอบวันที่ผ่านมา เราจะได้หาทางแก้ไขปรับปรุงเพื่อเป็นประโยชน์ในงานบริหาร นอกจากนำค่าปรับไปชำระที่ธนาคารได้ในวันถัดมา ระบบบาร์โค้ดจะลงระบบในวันต่อวัน ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวได้มีการดำเนินการบังคับใช้แล้ว โดยจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคมนี้ แล้วยกเลิกใบสั่งรูปแบบเก่าที่ไม่มี บาร์โค้ดเพื่อไม่ให้มีการนำใบสั่งแปลกปลอมมาใช้ต่อไป” พล.ต.ท.วิทยา กล่าว

นายนพพร นุชนิยม ผู้บริหารฝ่ายบริการจัดการทางการเงิน 1 ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ระบบพีทีเอ็มนั้น เป็นระบบการรับชำระค่าปรับผ่านทางธนาคาร รวมทั้งยังเป็นระบบจัดการใบสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นการออกใบสั่งด้วยกล้องตรวจจับ ระบบการส่งหนังสือเตือน สำหรับผู้ที่ไม่มาชำระค่าปรับตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยที่ผ่านมาสถิติการออกใบสั่งมีประมาณ 7 ล้านใบต่อปี แบ่งเป็นใบสั่งเล่มจำนวน 5 ล้านใบต่อปี และใบสั่งที่ออกด้วยกล้อง 2 ล้านใบต่อปี การใช้ระบบพีทีเอ็ม จะช่วยแก้ไขปัญหาใบสั่งค้างจ่ายได้ นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชันพีทีเอ็ม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรดาวน์โหลดแอปพลิเคชันลงบนมือถือ เชื่อมกับเครื่องพิมพ์เพื่อออกให้ผู้กระทำความผิดได้ทันทีอีกด้วย

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *