
จังหวัดสมุทรสาคร ตรวจวัดควันดำรถยนต์ราชการ ภายในศูนย์ราชการจังหวัดฯ ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจาก PM2.5
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 ม.ค. 2567 นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร มอบหมายให้นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร, นางทัตพร คงเพชร ขนส่งจังหวัดสมุทรสาคร, นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงาน ทสจ.สมุทรสาคร, นายธราเทพ กุลพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5 ร.ต.ต.สัณฐิติ ธรรมใจ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร และนางสายเพชร จังกาจิตต์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร ร่วมสังเกตการณ์การตรวจวัดควันดำรถยนต์ของหน่วยงานราชการ ณ บริเวณลานจอดรถ อบจ.จังหวัดสมุทรสาคร

สำหรับการตรวจวัดควันดำรถยนต์ราชการ ในศูนย์ราชการจังหวัดสมุทรสาคร ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยตรวจระบบความทึบแสง มีการตั้งจุดตรวจวัด จำนวน 2 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5 และจุดที่ 2 สำนักงานขนส่งจังหวัดสมุทรสาคร เป็นผู้ดำเนินการตรวจควันดำ มีรถยนต์ของหน่วยงานราชการเข้าร่วมตรวจวัดควันดำ จำนวน 41 คัน ผลการตรวจสอบรถยนต์ราชการมีค่าควันดำเป็นไปตามมาตรฐาน จำนวน 39 คัน และพบควันดำเกินมาตรฐาน จำนวน 2 คัน ซึ่งก็ได้มีการสั่งให้ดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้มีคำแนะนำให้หน่วยงานต่าง ๆ มีการตรวจสอบสภาพรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ ซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ ให้มีสภาพสมบูรณ์

โดยกรมการขนส่งทางบก ได้เริ่มใช้เกณฑ์ตรวจวัดควันดำจากท่อไอเสียใหม่ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ แบบจุดระเบิดด้วยการอัก พ.ศ. 2564 ด้วยเครื่องมือและวิธีการตรวจวัด จำนวน 2 ระบบ ได้แก่ ระบบความทึกแสง เดิมไม่เกิน 45 เปอร์เซ็นต์ ปรับเป็นไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ และระบบกระดาษกรอง เดินไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ปรับเป็นไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2565 เป็นต้นมา


หากเป็นรถส่วนบุคคลถ้าตรวจแล้วควันดำเกินมาตรฐานที่กำหนด มีการเปรียบเทียบปรับ 5,000 บาท และพ่นสีห้ามใช้ จนกว่าเจ้าของรถจะนำรถไปแก้ไขสภาพเครื่องยนต์ไม่ให้มีค่าควันดำเกินกำหนด และนำมาตรวจสภาพอีกครั้งจนผ่าน ซึ่งวิธีแก้ไขรถที่ปล่อยควันดำเบื้องต้น ได้แก่ ทำความสะอาดหรือเปลี่ยนกรองอากาศใหม่ เปลี่ยนกรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามระยะเวลา เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและกรองน้ำมันเครื่องตามระยะเวลา ปรับตั้งปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งจังหวะการฉีดเชื้อเพลิงให้ถูกต้อง ตรวจเช็กและปรับตั้งหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นละอองและมีแรงดัน และตรวจเช็กซ่อมเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อยู่เสมอ เป็นต้น

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ