ปลัดแต เผยที่มา “กางเกงปูก้ามดาบ” หลังติดเทรนด์ฮิต – อบจ.สมุทรสาคร ส่งต่อไอเดียอาชีพสู่คนรุ่นใหม่

นายก อบจ.สมุทรสาคร เผยถึงที่มา “กางเกงปูก้ามดาบ” รับกระแสฮิตซอฟต์พาวเวอร์ ประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก ชี้ อบจ.สมุทรสาคร ไม่ได้เป็นผู้ผลิต เพียงริเริ่มจุดประกายความคิด-ประชาสัมพันธ์เท่านั้น พร้อมร่วมวางระบบแนวทางการผลิต-ราคาจำหน่ายให้เป็นธรรม คาดเริ่มเปิดจองหลังช่วงตรุษจีน

จากกระแสความนิยมสวมใส่กางเกงลายช้างที่กำลังมาแรง กลายเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของประเทศไทย จนทำให้หลายจังหวัดเริ่มออกผลิตภัณฑ์กางเกงลวดลายอัตลักษณ์ท้องถิ่น อาทิ กางเกงแมวโคราช จ.นครราชสีมา กางเกงปลาแรด จ.อุทัยธานี กางเกงปลาทูแม่กลอง เป็นต้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา อบจ.สมุทรสาคร ได้มีการเปิดตัว “กางเกงปูก้ามดาบ” ผ่านทางสื่อต่าง ๆ อีกทั้งยังให้บรรดาเจ้าหน้าที่ของ อบจ.สมุทรสาคร สวมใส่เดินขบวนแห่องค์เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยผ่านตัวเมืองมหาชัย ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการจัดงานสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทย-จีน “ตรุษจีน เล่ง เกีย ฉู่ สืบสานตํานานมังกร 2567” จนทำให้มีประชาชนที่ทราบข่าวต่างถามหาและต้องการสั่งจองกางเกงปูก้ามดาบกันเป็นจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2567 นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงที่มาของ “กางเกงปูก้ามดาบ” ว่า เดิมทีทาง อบจ.สมุทรสาคร ได้มีการรณรงค์เรื่องของการช่วยกันกำจัดขยะต้นทางเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยให้บุคลากรในสังกัดทุกภาคส่วนร่วมกันเก็บขวดพลาสติกมาส่งมอบให้กับทาง อบจ.สมุทรสาคร เพื่อมอบให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ นำไปผลิตเป็นรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และยังได้มีการทำเป็นเสื้อจากขวดพลาสติกให้เจ้าหน้าที่ อบจ.สมุทรสาคร เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกในการร่วมกันลด คัดแยก และกำจัดขยะอย่างถูกวิธี

ประกอบกับกระแสของกางเกงช้างที่มีมาก่อนหน้านี้ ก็มีบรรดาน้อง ๆ วัยรุ่นยุคใหม่ ที่มีเลือดศิลปินรักการออกแบบได้มาพูดคุยกันว่าอยากขอให้ทาง อบจ.สมุทรสาคร ช่วยจัดกิจกรรมเพื่อให้น้อง ๆ เหล่านี้ได้แสดงผลงานต่อสังคม พอคุยไปคุยมาก็มาที่เรื่องของการออกแบบกางเกงให้เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสมุทรสาคร จนไปตกผลึกที่แนวคิดเกี่ยวกับป่าชายเลน นำไปสู่ข้อสรุปที่รูปของปูก้ามดาบมาเป็นแบบให้กางเกงอย่างที่ทุกคนทราบกัน

นายอุดม บอกอีกว่า สำหรับจุดเด่นของกางเกงปูก้ามดาบ อบจ.สมุทรสาคร นี้เริ่มจากลวดลายกางเกงถูกออกแบบให้โชว์อัตลักษณ์ทางศิลปะ วิถีชีวิตและระบบนิเวศของสมุทรสาคร ผ่านภาพวาดลายเส้น พิมพ์คมชัด สวยงาม ติดแน่นกับเนื้อผ้าไม่ลอก และเพิ่มคุณภาพทนทานของกางเกง โดยการใช้ผ้าไหมอิตาลี (Italian Silk) ซึ่งมีความยืดหยุ่น และผิวเรียบเป็นเงางาม  โดยคาดหวังผลักดันให้เป็นกางเกงลายจังหวัดสมุทรสาคร หรือช่วยจุดประกายไอเดีย เป็นจุดเริ่มต้นต่อยอดไปสู่การผลิตสินค้าต่อไป

ส่วนลวดลายต่าง ๆ บนกางเกงจะมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ลายป่าชายเลน ลายคลื่นน้ำ 3 ระลอก ลายปูก้ามดาบตัวเล็กสลับกับต้นไม้ชายเลน ลายคลื่นน้ำ 3 เส้น ลายจักกรี (ลายดอกเดซี่) และเลขมงคล ลายปูก้ามดาบใหญ่ ลายพิกุลประยุกต์ และลายประจำยาม โดยเฉพาะลวดลาย “ปูก้ามดาบตัวเล็กสลับกับต้นไม้ชายเลน” แสดงถึงความสำคัญของปูก้ามดาบในระบบนิเวศป่าชายเลน เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณพิเศษ แสดงพฤติกรรมปิดปากหลุมเป็นการเตือนภัยก่อนน้ำขึ้นด้วย

นายอุดม กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากที่มีการเปิดตัวกางเกงปูก้ามดาบออกไปนั้น กลายเป็นกระแสตอบรับที่รวดเร็วมาก จนคนคิดและคนทำตั้งตัวไม่ทัน ไม่คาดคิดว่าจะได้รับการตอบรับมากมายขนาดนี้ ดังนั้นในนามของ อบจ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นผู้ที่ริเริ่มแนวคิดผลิตกางเกงปูก้ามดาบ ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจ เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีเสียงเรียกร้องมาจากภายนอกให้ทาง อบจ.สมุทรสาคร ผลิตจำหน่าย หรือขอเป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งเรื่องนี้ทาง อบจ.สมุทรสาคร กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับผู้มีส่วนร่วมทั้งหมด

แต่ทั้งนี้ต้องขอบอกว่า อบจ.สมุทรสาคร เป็นเพียงผู้ริเริ่มจุดประกายความคิด และส่งเสริมการประชาสัมพันธ์กางเกงปูก้ามดาบให้เป็นที่รู้จักเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตเพื่อการจำหน่าย แต่จะเป็นผู้ร่วมวางระบบแนวทางการผลิตและราคาจำหน่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค คือ ผลิตได้ จำหน่ายดี และราคาไม่แพงเกินไป โดยต้องเป็นราคาที่ผู้ผลิตสามารถขายได้ ส่วนผู้ซื้อก็สามารถจับต้องได้ ซึ่งก็คาดว่าหลังตรุษจีนนี้จะมีความชัดเจนทั้งในเรื่องของราคา และสถานที่จัดจำหน่ายมาแจ้งให้ทราบต่อไป รวมถึงอาจจะมีแนวโน้มไปถึงเรื่องของการจดลิขสิทธิ์ เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบสินค้าจากต่างประเทศ และการผลักดันไปสู่การเป็นกางเกงประจำจังหวัดสมุทรสาครอีกด้วย

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *