
สมาชิกวุฒิสภา “ปริญญา-นิคม-ชวพล” หารือแนวทางจัดการศึกษาให้กับบุตรหลานแรงงานข้ามชาติ กับทางจังหวัดสมุทรสาคร
วานนี้ (5 พ.ย.) เวลา 10.00 น. นายปริญญา วงษ์เชิดขวัญ สมาชิกวุฒิสภา พร้อมด้วย นายนิคม มากรุ่งแจ้ง สมาชิกวุฒิสภา นายชวพล วัฒนพรมงคล สมาชิกวุฒิสภา นายวรณัฏฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายอาคม ศาณศิลปิน ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนตำรวจจาก ภ.จว.สมุทรสาคร สภ.เมืองสมุทรสาคร ตม.จว.สมุทรสาคร ร่วมด้วย สกร.จังหวัดสมุทรสาคร, สพป.สมุทรสาคร, หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร, องค์กรเอกชน สมาคมพราว และภาคประชาชน ร่วมประชุมหารือแนวทางการจัดการกับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาก่ออิทธิพลในจังหวัดสมุทรสาคร และแนวทางการจัดการศึกษาให้กับบุตรหลานแรงงานข้ามชาติ ของแรงงานผิดกฎหมายในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อยกระดับให้เป็นแนวทางสู่การแก้ไขปัญหาระดับประเทศต่อไป ณ ห้องประชุมมหาชัย (201) ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร


สำหรับประเด็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาก่ออิทธิพลในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีภาคประชาชนกลุ่มหนึ่งได้ออกมาขับเคลื่อนต่อต้านมาเป็นระยะหนึ่งแล้วนั้น จะได้มีการร่วมกันดำเนินงานอย่างเข้มข้น โดยให้แต่ละฝ่ายที่มีข้อมูลเชิงลึกส่งเข้ามายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปราม เพื่อดำเนินการให้ถึงตัวบุคคลที่มีการกล่าวอ้างถึง แม้ว่าแหล่งที่พักอาศัยของบุคคลนั้น ๆ จะไม่ได้อยู่ในจังหวัดฯ แต่ก็สามารถที่จะส่งต่อข้อมูลให้กับหน่วยงานในแต่ละพื้นที่ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ส่วนคนไทยคนไหนที่เข้าไปร่วมขบวนการด้วยนั้น ก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายไทยด้วยเช่นเดียวกัน


ส่วนประเด็นแนวทางการจัดการศึกษาให้กับบุตรหลานแรงงานข้ามชาติ ของแรงงานผิดกฎหมายในจังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบันพบว่ามีแรงงานข้ามชาติในจังหวัดฯ ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องมีอยู่ประมาณ 290,000 คน มีบุตรหลานแรงงานข้ามชาติอยู่ในช่วงวัยที่ต้องได้รับการศึกษาไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ซึ่งเด็กเหล่านี้กลายเป็นช่องโหว่ให้องค์กรหรือมูลนิธิฯ บางแห่ง อาศัยความใกล้ชิดและคุ้นเคยกับการทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติอยู่แล้ว เข้ามาหาผลประโยชน์ด้วยการเปิดโรงเรียนสอนเด็กข้ามชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต


ดังนั้นเพื่อเป็นการอุดช่องโหว่ของการหาผลประโยชน์จากการศึกษาของบุตรหลานแรงงานข้ามชาติให้เป็นไปภายใต้กฎหมายไทยนั้น จึงได้มีการประชุมหารือร่วมกัน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีแนวทางคือ บุตรหลานแรงงานข้ามชาติทุกคนควรต้องเข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนในสังกัดของรัฐบาลไทยที่มีกระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัด หรือหากเป็นสถานศึกษาที่เป็นขององค์กรจัดตั้งขึ้น ก็จะต้องได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และตัวอาคารต้องได้รับอนุญาตด้วย ไม่ใช่เพียงแค่หลักสูตรการจัดการเรียนการสอนเท่านั้น รวมไปถึงทางด้านสาธารณสุขที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางหน่วยงานด้านการศึกษาจะมีการหารือกันให้เป็นที่ชัดเจน และแจ้งขั้นตอนที่สำคัญต่าง ๆ ให้ทุกองค์กรได้รับทราบ ส่วนใครที่ลักลอบดำเนินการแล้วไม่ยอมทำให้ถูกต้องก็จะต้องถูกสั่งปิดพร้อมกับมีความผิดทางคดีต่อไป ทั้งนี้ การหารือแนวทางการจัดการศึกษาให้กับบุตรหลานแรงงานข้ามชาติ ระหว่างสมาชิกวุฒิสภาและหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดสมุทรสาคร จะได้นำไปขยายและต่อยอดการแก้ปัญหาดังกล่าวไปถึงระดับประเทศด้วย
สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ