
ปภ.สมุทรสาคร จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ ปชช. สร้างความตระหนัก-เตรียมความพร้อมจัดการภัยฝุ่นละออง PM2.5 ตามโครงการส่งเสริมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลอ้อมน้อย
วันนี้ (7 พ.ย.) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร (ปภ.สมุทรสาคร) จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ สร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมของประชาชนในการจัดการภัยฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยใช้หลักการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน จังหวัดสมุทรสาคร รุ่นที่ 1 ตามโครงการส่งเสริมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลอ้อมน้อย ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โดยมี นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร เป็นประธานเปิดโครงการ ร่วมด้วย ร.ต.ต.สัณฐิติ ธรรมใจ หน.สนง.ปภ.สมุทรสาคร พ.ต.ท.ชุมพร ฉัตร์สงวนชัย รอง ผกก.ป.สภ.กระทุ่มแบน รวมถึงรองนายกเทศมนตรีนครอ้อมน้อย พร้อมสมาชิกสภาเทศบาลฯ ผู้แทนส่วนราชการ สถานประกอบการ คณะผู้บริหาร คณะครูและนักเรียน วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลอ้อมน้อย เข้ารับการอบรม จำนวน 100 คน



สืบเนื่องจากในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูแล้งของทุกปี ประเทศไทยจะเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยมีสาเหตุการเกิดทั้งจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะในช่วงที่สภาพอากาศปิดและมีลมอ่อน ส่งผลให้ระดับเพดานการลอยตัวและการกระจายตัวของฝุ่นละอองอยู่ในระดับต่ำ การไหลเวียนและถ่ายเทของอากาศไม่ดี จึงทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการคมนาคมและขนส่ง จากยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล การจราจรติดขัด กิจกรรมการก่อสร้าง การเผาในที่โล่ง และโรงงานอุตสาหกรรม

จังหวัดสมุทรสาคร ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ สร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมของประชาชนในการจัดการภัยฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)ฯ รุ่นที่ 1 ตามโครงการส่งเสริมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมขึ้น ซึ่งเป็นการจัดให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษา ที่จะร่วมกันดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ความรู้ ความตระหนัก และเตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชน ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการความเสี่ยงและมีความพร้อมในการจัดการภัยจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ได้


สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ