สมุทรสาคร วางแผนกู้ซากถล่ม ก่อสร้างทางยกระดับพระราม 2 ยอดเสียชีวิต-สูญหายเป็น 6 ราย

สมุทรสาคร เร่งหารือวางแผนกู้ซากเครนถล่ม พาร่างผู้เสียชีวิตออกจากกองเหล็ก ผู้ว่าฯ รุดเยี่ยมผู้บาดเจ็บ ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตและสูญหายเพิ่มเป็น 6 ราย    

จากกรณีเหตุคานปูน (Segment) และเครน (Launching Gantry Crane) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้างทางยกระดับ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย – บ้านแพ้ว ตอนที่ 1 เกิดถล่มขณะกำลังเชื่อมคานปูนเข้าด้วยกัน ส่งผลให้คนงานที่ปฏิบัติงานเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก บนถนนพระราม 2 ระหว่าง กม.21+600 ถึง กม.22+100 ใกล้กับแยกต่างระดับเอกชัย หมู่ 2 ต.คอกกระบือ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. ของวันที่ 29 พ.ย. 2567

ความคืบหน้าของเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อเวลาประมาณ 08.00 น. ของวันเดียวกัน นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย ร.ต.อ.สัณฐิติ ธรรมใจ หน.สนง.ปภ.จังหวัดสมุทรสาคร พ.ต.อ.พิเชษฐ์พงศ์ แจ้งค้ายคม ผกก.สภ.เมืองสมุทรสาคร และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุ โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เผยว่า เราต้องดูเรื่องของการจราจรในเบื้องต้น เพราะว่าเส้นทางถนนพระราม 2 มีพี่น้องประชาชนใช้รถเยอะมาก ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และแขวงทางหลวงฯ ได้ช่วยกันอำนวยความสะดวกโดยการปรับเส้นทาง ขณะนี้ได้ติดต่อทางบริษัทผู้รับจ้างเร่งมาดำเนินการเก็บกู้ซาก ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดเราจะพยายามเร่งเก็บเคลียร์ซากที่พังลงมา เพื่อจะคืนสภาพถนนให้สามารถใช้งานโดยเร็วที่สุด ส่วนทางด้าน หน.สนง.ปภ.จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า การดำเนินการขณะนี้ อยู่ระหว่างการแก้ไขสถานการณ์ เจ้าหน้าที่ได้ปิดการจราจร ส่งผลให้ถนนพระราม2 ขาออก ต้องเบี่ยงไปใช้ถนนเอกชัย และถนนพระราม2 ขาเข้า ให้ใช้ช่องทางคู่ขนานได้ 2 ช่องจราจร จึงขอความร่วมมือประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางถนนพระราม 2 ดังกล่าว

ต่อมาเมื่อเวลา 10.30 น. นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ลงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยได้มีการประชุมร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์และรายงานข้อเท็จจริง โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า การประเมินสถานการณ์เบื้องต้นได้เรียนเชิญทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) บริษัทผู้รับจ้าง และกรมทางหลวงที่รับผิดชอบโครงการ ได้มาประเมินสถานการณ์ เริ่มตั้งแต่ขนาดเครน วันเวลาที่จะยก อุปกรณ์ที่ต้องใช้ ซึ่งได้ประเมินเบื้องต้น จากนั้นจะนัดผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่ายมาตกลงตัดสินใจกัน แต่ในเบื้องต้นได้สั่งเครนที่จะมาทำการยกมาเรียบร้อยแล้ว คาดว่าในเวลา 15.00 น. น่าจะมาถึงสถานที่เพื่อจะเข้าดำเนินงานในแต่ละส่วน

สำหรับเรื่องของการเยียวยาทั้งเรื่องของการเสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น ทางผู้ตรวจราชการของสำนักงานประกันสังคมจะได้ลงพื้นที่และจะไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บในเบื้องต้น โดยผู้เสียชีวิตที่อยู่ในระบบประกันสังคมมีกองทุนที่จะจ่ายให้ราว 800,000บาทเศษ ส่วนผู้บาดเจ็บก็ใช้เงินจากกองทุนประกันสังคมดูแลจนกระทั่งหายเป็นปกติ นอกจากนี้ได้รับแจ้งจากทางผู้รับจ้างว่าทางบริษัทจะดูแลเยียวยาให้ดีที่สุด

ส่วนในเรื่องของการบริหารการจราจรทางสารวัตรทางหลวงได้ประสานทาง จส.100 ในการอำนวยความสะดวกในการประชาสัมพันธ์ให้พ่อแม่พี่น้องหลบเลี่ยงเส้นทางนี้ขณะที่เรายังไม่สามารถคืนพื้นผิวจราจรให้ได้  ส่วนการที่จะรื้อเศษซากนั้นจะใช้รถเครนขนาด 220 ตัน ขนาด 360 ตัน และขนาด 400 ตัน รวม 3 คัน ซึ่งตนได้สอบถามทางผู้เชี่ยวชาญของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ แล้วบอกน่าจะเพียงพอ โดยเวลา 15.00 น. น่าจะเริ่มเข้างานคงจะใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพราะเป็นโครงสร้างที่ชำรุด มันไม่เหมือนกับการรื้อปกติ เพราะโครงสร้างที่ชำรุดต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก รายละเอียดในเรื่องวันเวลาที่จะรื้อแล้วเสร็จเมื่อไรคงให้ทางทีมงานวิศวกรรมเขาได้ประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบทางวิศวกรกำลังวิเคราะห์อยู่

ด้านนายวุฒินันท์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า สาเหตุนั้นยังไม่ทราบ แต่เบื้องต้นพบมีของที่คาอยู่ข้างบนชิ้นใหญ่ คิดว่าประมาณ 100 ตัน และมีบล็อกที่แขวนคาอยู่คาดว่าเกิน 50 ตัน เวลาที่เราจะรื้อค่อนข้างจะยากนิดหนึ่ง เพราะว่ามันเกี่ยวโยงกัน คือ คานตัวนี้เป็นปั่นจั่นชนิดหนึ่งเอาไว้ยกกล่องคอนกรีต เข้าใจว่าที่มันร่วงก็คือตอนที่เราจัดเรียงไม่แน่ใจว่าตัว ไฮโดรลิคปั๊ม หรือ สลิงไรเดอร์ ที่มันหล่นไป ซึ่งข้างบนจะรื้อมันยากนิดหนึ่ง เราต้องใช้เครนใหญ่รื้อแน่นอน เนื่องจากโครงสร้างตัวนี้ที่มันพาดอยู่คาดว่าจะหนักเกิน 100 ตัน แต่ว่ามันยึดโยงอยู่และบางส่วนโดยห้อยกับตัวคอนกรีตที่เราเรียกว่า Segment น่าจะใช้เครนหลายตัว เพราะชิ้นหนึ่งน่าจะน้ำหนักเกิน 200 ตัน ซึ่งเรามีทีมที่อยู่ดูแลเรื่องเครนอยู่ โดยตนจะให้ทีมงานมาช่วยประเมินและขอให้ผู้เกี่ยวข้องเช่นผู้ควบคุมงาน ผู้รับเหมา มาให้ข้อมูลว่าแต่ละท่อนหนักเท่าไรกันแน่น้ำหนักที่แน่ชัด เพื่อที่เวลาเราเอาเครนมาวางจะได้รู้ว่าเครนที่เรามีอยู่มันใหญ่พอไหม ซึ่งแนวทางเบื้องต้นน่าจะทยอยรื้อจากข้างบนเพื่อที่ข้างล่างพอเรารื้อออกจะได้นำผู้เสียชีวิตออกได้  โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการรื้อถอนประมาณ 2-3 วัน

ขณะที่เมื่อเวลา 12.00 น. นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร แรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร เหล่ากาชาดจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพของเหล่ากาชาดจังหวัดสมุทรสาคร ให้กับผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์คานปูนและเครนของโครงการก่อสร้างทางยกระดับฯ ถล่ม

สำหรับรายชื่อผู้บาดเจ็บ จำนวน 9 ราย ขณะนี้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล จำนวน 6 ราย จำแนกเป็น โรงพยาบาลสมุทรสาคร 4 ราย ได้แก่ นายนันโกโก (เมียนมา) อายุ 24 ปี นายเบดา (เมียนมา) อายุ 34 ปี นายวรยศ ศรีรีเวช อายุ 25 ปี และนายพสิน ผิวทน อายุ 19 ปี โรงพยาบาลเอกชัย 1 ราย ได้แก่ นายพงษ์ศักดิ์ นรสาร อายุ 35 ปี และโรงพยาบาลวิชัยเวชฯ สมุทรสาคร 1 ราย ได้แก่ นายทรงวุฒิ พุทธเสน อายุ 18 ปี ส่วนอีก 3 รายกลับบ้านได้แล้ว ได้แก่ นายสอยโกโก (เมียนมา) อายุ 20 ปี น.ส.เมตูมิน (เมียนมา) อายุ 32 ปี และนายอองซอนิน (เมียนมา) อายุ 31 ปี

ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิต ขณะนี้มีจำนวน 4 ราย ได้แก่ นายอภิวัฒน์ พะพันทาง อายุ 30 ปี เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ นายเอยา (เมียนมา) อายุ 37 ปี เสียชีวิตที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร นายสุทัศน์ บุญเรือง อายุ 31 ปี เสียชีวิตที่โรงพยาบาลมหาชัย และนายชิตโกโก (เมียนมา) ร่างติดอยู่ในที่เกิดเหตุ อีกทั้งยังมีผู้สูญหาย จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายเพียวโกโก (เมียนมา) และนายอ่องเทียนเท (เมียนมา) ซึ่งคาดว่าน่าจะเสียชีวิตแล้วเช่นกัน (ข้อมูลเมื่อเวลา 13.00 น.)

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *