องค์การสหประชาชาติ สรุปผลสำรวจระดับความสุขของประชากรใน 156 ประเทศทั่วโลก ฉลอง “วันความสุขสากล” 20 มีนาคม ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 46 ขณะที่กรมสุขภาพจิตประกาศแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ สู่เป้าหมายคนไทย 4.0 “มีปัญญา อารมณ์ดี มีความสุข อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า” กำหนดตัวชี้วัดระดับความสุขของประชากรไทย ในปี 2579 อยู่ที่อันดับ 26
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 20 มีนาคม เป็นวันความสุขสากล และได้รายงานผลการสำรวจดัชนีความสุขของประชากรในประเทศทั่วโลกเป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกได้แก่ ประเทศฟินแลนด์ อันดับที่ 2 คือ ประเทศนอร์เวย์ ส่วนของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 46 จาก 156 ประเทศ และเป็นที่ 3 ของประเทศกลุ่มอาเซียนถัดจากสิงคโปร์และมาเลเซีย
นอกจากนี้รายงานยังระบุว่า ประเทศไทยทำได้ดีขึ้นในเรื่องของสุขภาวะและอายุเฉลี่ยประชากร และการมีโอกาสและทางเลือกในชีวิต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของแต่ละบุคคล สำหรับการดำเนินการของกรมสุขภาพจิต ในด้านการส่งเสริมความสุขคนไทย ทางกรม ฯ ได้ดำเนินการภายใต้นโยบายการปฏิรูประบบสุขภาพจิต โดยกำหนดแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ สู่เป้าหมายคนไทย 4.0 “มีปัญญา อารมณ์ดี มีความสุข อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า” กำหนดตัวชี้วัด ระดับความสุขของประชากรไทย ตามการสำรวจขององค์การสหประชาชาติ อยู่ที่อันดับ 26 ในปี 2579
โอกาสนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้เน้นย้ำถึง “บัญญัติสุข 10 ประการ” ซึ่งเป็นสูตรแห่งความสุข ที่กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้คนไทยได้ใช้เติมความสุขให้ชีวิต ได้แก่
1. ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง
2. ค้นหาจุดแข็ง ความถนัดและศักยภาพตัวเอง และพัฒนาจนเป็นความสำเร็จ
3. ฝึกการหายใจคลายเครียด ทำทุกครั้งเมื่อเจอปัญหาหรือรู้สึกตึงเครียด ด้วยวิธีง่ายๆ เช่น
– วิธีที่ 1 หายใจสบายๆอย่างเป็นธรรมชาติ แต่หายใจออกให้ยาวขึ้นโดยรู้ตัว
– วิธีที่ 2 หายใจออกให้ยาวกว่าการหายใจเข้า ประมาณ 2 เท่า เช่นนับเลข 1-2-3-4 เมื่อหายใจเข้า และกลั้นไว้ จากนั้นนับเลข 1-2-3-4-5-6-7-8 เมื่อหายใจออก
– วิธีที่ 3 หายใจโดยวางความรู้สึกไว้ที่ท้องขณะหายใจออก จะรับรู้ได้ว่าท้องแฟบ
4. คิดทบทวนสิ่งดีๆในชีวิตและฝึกมองโลกในแง่ดี
5. บริหารเวลาให้สมดุลระหว่างการงาน สุขภาพและครอบครัว โดยวางแผนใช้เวลาให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราให้ความสำคัญ เพิ่มเวลาให้กับเรื่องที่มีความสำคัญ และลดเวลาในเรื่องที่ไม่สำคัญหรือสำคัญน้อยกว่า
6. คิดและจัดการปัญหาเชิงรุก ด้วยสติและปัญญา ไม่เสียเวลาไปกับการคิดกังวลเกินควร
7. มองหาโอกาสในการมอบสิ่งดีๆให้กับผู้อื่นเช่น กิจกรรมอาสาสมัคร ทั้งนี้มีงานวิจัยพบว่าคนที่ช่วยเหลือผู้อื่น จะมีชีวิตยืนยาวขึ้น
8. ศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนศาสนา
9. ให้เวลาและทำกิจกรรมความสุขร่วมกับสมาชิกในครอบครัวเป็นประจำ อย่าให้ความสำคัญเงินทองและวัตถุมากเกินไป อย่าตำหนิลูกในทุกความผิดพลาด
10. ชื่นชมคนรอบข้างอย่างจริงใจ และอย่าลืมชื่นชมตัวเองด้วย
สาครออนไลน์ โดย กองบรรณาธิการ