สมุทรสาครจัดพิธีถวายราชสดุดี สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นำข้าราชการและพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ร่วมพิธีถวายราชสดุดี เนื่องในวันที่ระลึกคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2561 ที่ลานสาครบุรี ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร นายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีวันที่ระลึกคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีข้าราชการ และพสกนิกรทุกหมู่เหล่า เข้าร่วมพิธี เพื่อน้อมรําลึกและสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงทำนุบำรุงประเทศชาติ เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้รับความสุขสบายตลอดรัชสมัย สืบเนื่องต่อมาจวบจนถึงปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงพระบรมราชสมภพเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2436 ทรงเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 และทรงดำรงอยู่ในสิริราชสมบัติ 9 ปี 3 เดือน 4 วัน โดยพระองค์ทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 และเสด็จสวรรคตในวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 ด้วยโรคพระหทัยวาย ณ ประเทศอังกฤษ สิริพระชนมพรรษาได้ 47 พรรษา 6 เดือน 22 วัน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีพระบรมราชคุณูปการแก่ประเทศ และประชาชนเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ทั้งทางด้านการปกครอง พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 และพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้กับประชาชนชาวไทย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกภายใต้รัฐธรรมนูญ ทางด้านเศรษฐกิจ พระองค์ทรงพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การควบคุมงบประมาณ ตัดทอนรายจ่าย ลดอัตราเงินเดือนข้าราชการ ปรับปรุงระบบภาษี ยุบรวมจังหวัด ด้านการสุขาภิบาลและสาธารณูปโภค ทรงโปรดให้ปรับปรุงงานสุขาภิบาลทั่วราชอาณาจักรให้ทัดเทียมอารยประเทศ

ด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณี และวัฒนธรรม ทรงส่งเสริมการศึกษาของชาติทั้งส่วนรวมและส่วนพระองค์ทรงโปรดให้สร้างหอพระสมุดสําหรับพระนคร ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา ทรงตราพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 พระองค์ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์ปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา และด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ทรงทําสนธิสัญญากับประเทศฝรั่งเศส เกี่ยวกับดินแดนลุ่มน้ำโขง เรียกว่าสนธิสัญญาอินโดจีน พ.ศ. 2469 โดยกําหนดให้มีเขตปลอดทหาร 25 กิโลเมตร ทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง แทนที่จะมีเฉพาะฝั่งสยามแต่เพียงฝ่ายเดียว

สาครออนไลน์ โดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *