คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร จัดเสวนา วิถีชีวิตชุมชนท่าฉลอมจากอดีตถึงปัจจุบัน

ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ร่วมกับ สมุทรสาครพัฒนาเมือง จัดเสวนาเกี่ยวกับ วิถีชีวิตชุมชนจากอดีตถึงปัจจุบันของท่าฉลอม โดยนำเสนอข้อมูลวิจัยภาคสนามทางมานุษยวิทยาของนักศึกษา-คณาจารย์ ที่ลงพื้นที่ เล็งรวบรวมเป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อประโยชน์ของชุมชน

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561 ที่ศูนย์ท่องเที่ยวและกิจกรรม บ้านท่าฉลอม ถ.ถวาย ต.ท่าฉลอม อ.เมือง ฯ จ.สมุทรสาคร ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ศูนย์สันสกฤตศึกษา ร่วมกับ บริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด จัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สาธารณะ เกี่ยวกับวิถีชีวิตชุมชนจากอดีตถึงปัจจุบันของ ต.ท่าฉลอม ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลวิจัยภาคสนามทางมานุษยวิทยา ของนักศึกษาคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ในโครงการ การเพิ่มพูนทักษะนักศึกษาด้วยการวิจัยภาคสนามทางมานุษยวิทยา

มี ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม รองประธานบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด พร้อมด้วย นายชิงชัย บุญประคอง ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร ผศ.ดร.ดำรงพล อินทร์จันทร์ หัวหน้าภาควิชามานุษยวิทยา ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ รวมถึงคณาจารย์ นักศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในชุมชนท่าฉลอม เข้าร่วมรับฟังการเสวนาในครั้งนี้

สำหรับโครงการดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อให้นักศึกษาและคณาจารย์ได้เพิ่มพูนทักษะและเสริมสร้างประสบการณ์จริงจากการศึกษาวิจัยภาคสนามนอกสถานที่ ในรายวิชาระเบียบวิธีวิจัยทางมานุษยวิทยา รวมทั้งสามารถนำความรู้ แนวคิดทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมอย่างรอบด้าน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนที่ศึกษา ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคม สามารถนำเสนอประเด็นการศึกษาต่อสาธารณะได้

โดยภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ร่วมมือกับ สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) นำนักศึกษาคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร จำนวน 30 คน พร้อมคณาจารย์ลงพื้นที่ภาคสนามเก็บข้อมูลศึกษาในชุมชนต่าง ๆ ของ ต.ท่าฉลอม ได้แก่ ชุมชนหัวรถไฟวัดแหลม ชุมชนวัดแหลมสุวรรณาราม ชุมชนศาลเจ้าแม่จุ้ยบุ้ยเนี้ย ชุมชนศาลเจ้ากลาง ชุมชนท้ายบ้าน และชุมชนท้องคุ้ง โดยใช้วิธีการลงพื้นที่สำรวจ การสัมภาษณ์ และการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม ซึ่งมีทั้งปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน ต.ท่าฉลอม ร่วมให้ข้อมูลในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน

ทั้งนี้ ผลงานของนักศึกษาคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ที่ได้ทำการเก็บข้อมูลภาคสนามใน ต.ท่าฉลอม ตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ (27 พ.ค. – 2 มิ.ย. 2561) จะได้นำไปรวบรวมเพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ อันเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ต.ท่าฉลอม โดยเฉพาะการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงชุมชนและประวัติศาสตร์ต่อไป

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *