มูลนิธิรักษ์ไทย จัดเสวนาเติมสิทธิในช่องว่างประกันสุขภาพฯ วันแรงงานข้ามชาติสากล

เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย เผย องค์การ IOM คาดไทยมีจำนวนแรงงานข้ามชาติราว 5 ล้านคน กว่า 2 ล้านคน ไม่ได้รับสิทธิประกันสุขภาพ เหตุไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่สมุทรสาครมีแรงงานข้ามชาติประมาณ 3 แสนคน ขึ้นทะเบียน 2.6 แสนคน โดยอยู่ในระบบประกันสังคม 1.6 แสนคน บัตรประกันสุขภาพ 8.5 หมื่นคน

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ บิ๊กซี มหาชัย ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร มูลนิธิรักษ์ไทย และภาคีเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน ในโครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ด้วยชุด RRTTR (Stop TB and AIDS through RTTR) หรือโครงการ STAR จัดงานนิทรรศการ ฉายภาพยนตร์ และเวทีเสวนาในหัวข้อเรื่อง “เติม (สิทธิ) ในช่องว่าง : ประกันสุขภาพ แรงงาน นายจ้าง รัฐ?” เนื่องในวันแรงงานย้ายถิ่นสากล ประจำปี 2561โดยมี นายอำนวย มากทรัพย์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดงาน นายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย ตลอดจนผู้แทนจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และ แรงงานข้ามชาติ ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมกันเป็นจำนวนมาก

สำหรับการจัดงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แรงงานข้ามชาติ นายจ้าง ภาคธุรกิจ ภาครัฐ องค์กรเอกชน ผู้แทนแรงงาน สื่อมวลชน และสาธารณชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่การจ้างงานและการประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติตามกฎหมายหรือแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง พร้อมแสดงทัศนะต่อประเด็นที่เป็นอุปสรรคอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอต่อรัฐบาล ภาคธุรกิจ และนายจ้าง ในการส่งเสริมการประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติที่เหมาะสม นำไปสู่การพัฒนาหรือการปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน และสามารถปฏิบัติได้จริงในทุกระดับ กิจกรรมภายในงาน มีการฉายภาพยนตร์เรื่อง “ที่ว่างระหว่างสมุทร” พร้อมทั้งการออกบูทนิทรรศการความรู้ เรื่องสิทธิ สุขภาพ และการให้บริการตรวจสุขภาพ จากหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐและเอกชน

เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย เปิดเผยว่า จากภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2561 ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งกิจการประมง ประมงต่อเนื่อง และแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง ส่งผลต่อความต้องการแรงงานที่เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังคงพบว่ามีสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการบริหารจัดการที่เข้มงวดของรัฐบาลไทย

ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ณ เดือนตุลาคม 2561 ระบุว่า มีแรงงานข้ามชาติประเภททั่วไป ใน 3 สัญชาติ คือ เมียนมา กัมพูชา และลาว ที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 3,083,451คน เป็นแรงงานที่มีหนังสือเดินทาง 1,868,005 คน แรงงานที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงาน 1,193,885 คน และแรงงานที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาล 21,561 คน ขณะที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) คาดประมาณการว่า ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติอยู่ราว 5 ล้านคน

ขณะที่ข้อมูลสถานการณ์ด้านการประกันสุขภาพในกลุ่มประชากรข้ามชาติ จากกองเศรษฐกิจและหลักประกันสุขภาพ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ณ เดือนกันยายน 2561 ระบุว่ามีแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบบัตรประกันสุขภาพ จำนวน 1,657,343 คน และผู้ประกันตนต่างชาติกับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จำนวน 1,211,894 คน

ซึ่งเมื่อเทียบจากตัวเลขของแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว พบว่า มีแรงงานจำนวนกว่า 210,000 คน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพใด ๆ และอีกกว่า 2 ล้านคน ที่ยังคงไม่ได้รับสิทธิในการประกันสุขภาพใด ๆ เนื่องจากไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศไทย จากการดำเนินงานของภาคประชาสังคมยังคงพบการรายงานถึงช่องว่างและปัญหาในการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในกรณีของแรงงานที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องและได้รับอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักรไทยแล้วก็ตาม

สำหรับ จ.สมุทรสาคร นับว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีแรงงานข้ามชาติเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยข้อมูลจากสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ณ เดือนมิถุนายน 2561 มีจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 260,799คน มากเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศไทย รองลงมาจากกรุงเทพมหานคร ขณะที่มีจำนวนแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม168,284 คน และที่เข้าระบบบัตรประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข 85,430 คน ทั้งนี้จากตัวเลขแรงงานที่มีประกันสุขภาพจากสองกองทุนนี้ จะมีการนับซ้ำซ้อนกันเนื่องจากนโยบายการขายบัตรประกันที่แรงงานต้องซื้อบัตรประกันสุขภาพก่อนที่จะได้รับสิทธิประกันสังคม ส่วนแรงงานข้ามชาติตามการคาดประมาณจริงใน จ.สมุทรสาคร มีจำนวนกว่า 300,000 คน

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าระบบประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ที่ยังถูกผูกอยู่กับสถานะการเข้าเมือง การได้รับอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ลักษณะกิจการการจ้างงานของนายจ้าง หรือนโยบายที่รัฐบาลประกาศในแต่ละปีโดยปราศจากมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง รวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ตัวแรงงานเองที่ยังไม่พร้อมจะจ่ายเงินสำหรับการประกันสุขภาพในขณะที่มีสุขภาพยังดีอยู่ หรือนายจ้างที่ไม่ส่งเสริมการมีประกันสุขภาพสำหรับลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติ อันส่งผลให้ปัญหาการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพ และสิทธิในการรักษาพยาบาลแรงงานข้ามชาติเมื่อเจ็บป่วย ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *