แกะรอยอุบัติเหตุทางรถไฟ “มหาชัย-วงเวียนใหญ่” เมื่อไม่มีคนเฝ้า “ทางลักผ่าน”

เหตุการณ์รถไฟชนกับรถกระบะที่จุดตัดทางรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ บริเวณหน้าวัดโสภณาราม (วัดบ้านขอม) หมู่ 5 ต.โคกขาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

แม้จะโชคดีที่คนขับรถกระบะรอดตายมาได้ แต่พบว่าทางรถไฟสายนี้ เริ่มมีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุตรงจุดตัดที่เรียกว่า “ทางลักผ่าน” บ่อยครั้ง โดยเฉพาะหลังการรถไฟแห่งประเทศไทยเลิกจ้าง “คนเฝ้าทาง” มานานกว่า 1 เดือน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 เกิดอุบัติเหตุรถไฟชนกับรถกระบะ ที่แยกอู่สมพร ถนนเดิมบาง ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โชคดีที่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

ภาพ : ข่าวสารสมุทรสาคร

จากการสำรวจทางรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ ช่วงที่หยุดรถคอกควาย ถึงสถานีมหาชัย ระยะทาง 8.2 กิโลเมตร พบว่า ถนนพระราม 2-อัสสัมชัญ กำลังก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ โดยได้เปิดใช้งานไปแล้วบางส่วน

จากนั้นจะเป็นจุดตัดที่รถยนต์สัญจรไปมา อาทิ ถนนวัดโสภณาราม (บ้านขอม), ถนนวัดศรีบูรณาวาส (วัดโคก), ซอยหมู่บ้านพงษ์มาลี, ซอยหมู่บ้านณรงค์มิตร, ซอยอู่สมพร และซอยหมู่บ้านเจริญสุข เป็นต้น

จุดตัดเหล่านี้ถือเป็น “ทางลักผ่าน” ทั้งในรูปแบบทางเข้า-ออกหมู่บ้าน หรือถนนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก่อสร้างโดยไม่ได้ขออนุญาต หรือไม่ได้รับอนุญาตจากการรถไฟฯ ให้ทำเป็นจุดตัดทางรถไฟแต่อย่างใด

ภาพ : Google Street View

ก่อนหน้านี้ ทางลักผ่านดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง กระทั่งมีเสียงเรียกร้องให้มี “คนเฝ้าทาง” การรถไฟฯ จึงจ้าง “คนเฝ้าทาง” ตามจุดลักผ่าน ช่วงบ้านขอม-มหาชัย 6 จุด โดยใช้งบประมาณของการรถไฟฯ

คนเฝ้าทางเหล่านี้ เมื่อรถไฟวิ่งผ่านบริเวณทางลักผ่าน จะทำหน้าที่ให้สัญญาณธงแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งแต่ละวันจะมีขบวนรถไฟวิ่งผ่านวันละ 34 ขบวน โดยการทำงานแบ่งออกเป็น 2 กะ จ่ายค่าตอบแทนจุดละ 600 บาทต่อวัน

แต่เมื่อการรถไฟฯ ถูกหน่วยงานแห่งหนึ่งตรวจสอบการใช้งบประมาณว่าจ้างคนเฝ้าทาง อีกทั้งจุดลักผ่านเหล่านี้ชาวบ้านและ อปท. ทำกันเอง ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฯ จึงไม่สามารถจ้างคนเฝ้าทางต่อได้อีก

ภาพ : ข่าวสารสมุทรสาคร

ในที่สุดเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2562 การรถไฟฯ โดยแขวงบำรุงทางกรุงเทพฯ จึงประกาศยกเลิกคนเฝ้าทางผ่าน โดยใช้สัญญาณไฟวาบแทน ทำให้ปัจจุบันทางลักผ่านทั้ง 6 แห่งเหล่านี้ ไม่มี “คนเฝ้าทาง” อีกต่อไป

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแห่งเดียว แต่ยังเกิดขึ้นกับทางรถไฟสายใต้ ได้ประกาศยกเลิกคนเฝ้าทาง บริเวณซอยเจษฎาเทคนิคมิวเซี่ยม ต.งิ้วราย อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา

คำถามก็คือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อ “ทางลักผ่าน” เหล่านี้?

เพราะที่ผ่านมา อปท. และชาวบ้านสร้างทางลักผ่านกันเอง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนในชุมชน โดยไม่ได้รับอนุญาต ครั้นการรถไฟฯ จะใช้อำนาจหน้าที่ปิดทางลักผ่าน ก็มักจะเกิดการประท้วงกลายเป็นปัญหาบานปลาย

ที่ผ่านมา การรถไฟฯ มักจะตกเป็นจำเลยสังคม เพราะสังคมคิดไปเองว่า การรถไฟฯ มีภาระต้องรับผิดชอบทำจุดตัดทางรถไฟ บริเวณทางลักผ่านเหล่านี้ ทั้งๆ ที่บุคคลหรือหน่วยงานอื่นเป็นผู้ทำทางลักผ่าน ไม่ใช่การรถไฟฯ

ขณะที่การจะทำทางลักผ่านให้เป็นจุดตัดทางรถไฟ หากท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ นอกจากจะต้องขออนุญาตแล้ว ยังต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงมหาดไทย

เรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ อปท. เฉกเช่นเทศบาลนครสมุทรสาคร และองค์การบริหารส่วนตำบลโคกขาม ในฐานะพื้นที่รับผิดชอบตลอดแนวทางรถไฟ ช่วงบ้านขอม-มหาชัย จะต้องร่วมมือกับการรถไฟฯ แก้ปัญหาเหล่านี้

เป็นไปได้หรือไม่ที่ อปท. ทั้งสองแห่ง จะพิจารณาจัดหา “คนเฝ้าทาง” แทนที่การรถไฟฯ ซึ่งได้ยกเลิกไปก่อนหน้านี้ รวมทั้งพัฒนาทางลักผ่านที่เป็นเส้นทางลัดไปยังถนนเอกชัย ให้เป็นจุดตัดทางรถไฟ โดยใช้มาตรฐานตามที่การรถไฟฯ กำหนด

ไม่เช่นนั้น จะปล่อยให้เกิดโศกนาฎกรรมบนทางรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ ต้องให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเช่นนั้นหรือ? ถึงจะออกมาใส่ใจ

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *